คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายในกำหนด 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคสอง จึงเป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์จะต้องนำพนักงานเดินหมายไปส่ง สำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเอง แม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ ได้ไปเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายสำเนาอุทธรณ์ ไว้แล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสี่หมดหน้าที่ที่จะต้อง จัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น ปรากฏว่าพนักงานเดินหมาย รายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่ง ในวันที่ 15 เดือนเดียวกันว่า รอจำเลยทั้งสี่แถลงถ้าจำเลยทั้งสี่นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้ว จำเลยทั้งสี่ก็จะทราบผลทันทีในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ก็ต้องแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรภายในเวลาอันสมควรเมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่นำส่งเองกลับปล่อยให้พนักงานเดินหมายไปส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยทั้งสี่เองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลจะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า “จำเลยทั้งสี่แถลง” โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสี่แถลง และไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ทราบอีก จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการกระบวนพิจารณาไปโดยชอบแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2534 ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่แถลงเข้ามาเป็นระยะเวลาถึง6 เดือนเศษศาลชั้นต้นจึงได้มีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ประกอบมาตรา 246 เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ชื่อคำว่า “PRINCESS HOTEL” อ่านว่า”พรินเซสส์โฮเต็ล หรือปริ๊นเซสส์โฮเต็ล ดีกว่าจำเลยทั้งสี่และห้ามจำเลยทั้งสี่นำชื่อดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือใช้ในทางอื่นใด กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าโจทก์ที่ 2 ขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ที่ 2กับให้โจทก์ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ชื่อหรือนามคำว่า “PRINCESS HOTEL” อ่านว่า “พรินเซสส์โฮเต็ลหรือปริ๊นเซสส์โฮเต็ล” โดยชอบและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสี่ห้ามจำเลยทั้งสี่ใช้หรือนำชื่อดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือใช้ในทางอื่นใด ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ที่ 2ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายใน 15 วันมิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534พนักงานเดินหมาย กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม รายงานต่อศาลชั้นต้นว่านำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้ทนายโจทก์ทั้งสองไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ 15 เดือนเดียวกันว่ารอจำเลยทั้งสี่แถลง วันที่ 15 สิงหาคม 2534 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้วจำเลยทั้งสี่ไม่ได้แถลงว่าจะดำเนินการอย่างไร ศาลชั้นต้นสั่งในวันเดียวกันว่า ให้ส่งถ้อยคำสำนวนไปศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสี่มิได้ดำเนินคดีภายในระยะเวลาอันสมควรให้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่แก่โจทก์ถือว่าจำเลยทั้งสี่ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2), 132(1)ประกอบมาตรา 246 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์สั่งรับอุทธรณ์และสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายในกำหนด 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 70 วรรคสอง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์จะต้องนำพนักงานเดินหมายไปส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเองแม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ได้ไปเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายสำเนาอุทธรณ์ไว้แล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสี่หมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น ปรากฏว่าพนักงานเดินหมายรายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่15 เดือนเดียวกันว่า รอจำเลยทั้งสี่แถลงจึงเห็นว่าถ้าจำเลยทั้งสี่นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้วจำเลยทั้งสี่ก็จะทราบผลทันทีในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ก็ต้องแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรภายในเวลาอันสมควร เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่นำส่งเองกลับปล่อยให้พนักงานเดินหมายไปส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยทั้งสี่เองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลจะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า “รอจำเลยทั้งสี่แถลง” โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสี่แถลง และไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ทราบอีก จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยชอบแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2534 ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่แถลงเข้ามา เป็นระยะเวลาถึง 6 เดือนเศษศาลชั้นต้นจึงได้มีคำสั่งให้ล่วงสำเนาในศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไปพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246 เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(1)
พิพากษายืน

Share