แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันพยายามฆ่าคนตายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 ต่อศาลทหาร ศาลทหารพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 2 ฟังว่า ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายบาดเจ็บตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษาได้ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยทั้งสามพ้นข้อหาไป ดังนี้ คดีสำหรับตัวจำเลยที่ 1 และ 3 ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายมีบาดเจ็บตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ต่อศาลพลเรือนอีก คดีสำหรับตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ่ย่อมต้องห้าม ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2505)
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้ง ๓ ในคดีนี้ต่อศาลทหารกรุงเทพฯ (ศาลจังหวัดชัยนาทฉ) หาว่าจำลยทั้ง ๓ ร่วมกันพยายามฆ่านายสอาดผู้เสียหาย ศาลทหารในคดีนั้นได้ดำเนินการสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ ๒ ฟังได้ว่าได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายบาดเจ็บตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษาได้ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยทั้ง ๓ พ้นข้อหาไป โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้ง ๓ ต่อ ศาลจังหวัดชัยนาทว่า จำเลยทั้ง ๓ร่วมกันทำร้ายร่างกายนายสอาด ผู้เสียหายมีบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต่อศาลพลเรือนได้อีกหรือไม่ ศาลชั้นต้นว่าเป็นฟ้องซ้ำศาลอุทธรณ์ว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ ๑ และ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในตอนแรกที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ฯ (ศาลจังหวัดชัยนาท) หาว่าพยายาามฆ่าคนตายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓ นั้น คดีอยู่ในอำนาจที่ศาลทหารนั้นจะพิจารณาพิพากษาเมื่อศาลทหารนั้นสืบพยานเสร็จฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้องของโจทก์ ก็ต้องถือว่าคดีสำหรับตัวจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) ่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓