แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ลงโฆษณาสินค้าของจำเลยทางโทรทัศน์ตามสัญญาที่จำเลยจ้างโจทก์โฆษณาสินค้าในรายการคอนเสิร์ตเลข 9 เป็นเวลา 1 นาที 45 วินาที ขาดไป 15 วินาที ดังนั้นงานที่โจทก์ทำส่วนใหญ่ จึงสมบูรณ์มีความบกพร่องเพียงเล็กน้อย ถือได้ว่าโจทก์ได้ทำงานที่จ้างให้จำเลยเสร็จแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้าของจำเลยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 และติดตั้งป้ายโฆษณาในรายการคอนเสิร์ตเลข 9 ของโจทก์ ตกลงสินจ้างเป็นเงิน 528,125 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 10 อีก 52,812.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 580,937.50 บาท โจทก์ทำงานที่รับจ้างตามข้อตกลงในสัญญาครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระสินจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 590,489 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน528,125 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานโฆษณาไม่ครบถ้วนตามสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องชำระสินจ้างแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 580,937.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 528,125 บาท นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 กรกฎาคม 2541) ต้องไม่เกิน 9,551.50 บาทเท่าที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 558,593.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 507,812.50 บาทนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่าโจทก์ทำงานที่อ้างเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาหรือไม่ โจทก์มีนางสาวสนธยา จันทร์อาภรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของโจทก์เบิกความเป็นพยานประกอบใบรับรองการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.15 ว่า โจทก์ได้ลงโฆษณาให้จำเลยแล้ว จากคำเบิกความของนางสาวสนธยา และใบรับรองการออกอากาศฯ เอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.15 ฟังได้ว่าโจทก์ลงโฆษณาให้จำเลยในรายการคอนเสิร์ตเลข 9 เดือนสิงหาคม 2540 เป็นเวลา 2 นาที 30 วินาที เดือนกันยายน 2540 เป็นเวลา 2 นาที ถูกต้องครบถ้วน ทั้งรายการและกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 ตามลำดับ ส่วนการลงโฆษณาในเดือนตุลาคม 2540 โจทก์ลงโฆษณาให้จำเลยในรายการคอนเสิร์ตเลข 9 เป็นเวลา 1 นาที 45 วินาทีขาดไป 15 วินาที ดังนั้นงานที่โจทก์ทำส่วนใหญ่จึงสมบูรณ์มีความบกพร่องเพียงเล็กน้อย ถือได้ว่าโจทก์ได้ทำงานที่จ้างให้จำเลยเสร็จแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้ลงโฆษณาชดเชยให้จำเลยในรายการอื่นเป็นเวลา 45 วินาทีนั้น เห็นว่า เป็นคนละรายการและคนละเวลากับที่กำหนดไว้ในสัญญา รายการและการออกอากาศเป็นสาระสำคัญของการโฆษณาจึงไม่สามารถนำมาชดเชยหักล้างกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์หักจำนวนเงินและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 15 วินาที จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน