คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้นำสืบว่าเมื่อจำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าคืนมารถยนต์ที่เช่าชำรุดหรือมีความบุบสลายเพราะความผิดของโจทก์อันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าเสื่อมสภาพ เสื่อมราคา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 562 วรรคแรก และตามสัญญาเช่าไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องรับผิดในราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ขาดอยู่เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่อาจเรียกราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ขาดอยู่ จากโจทก์ได้
แม้ตามสัญญาเช่าจะระบุไว้ว่าผู้เช่าจะต้องวางเงินประกันต่อผู้ให้เช่าโดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ย่อมมีความหมายเพียงว่านับแต่วันที่โจทก์ได้วางเงินประกันต่อจำเลยจนกระทั่งครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาในระหว่างเวลาเช่าดังกล่าวโจทก์จะเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในต้นเงินประกันไม่ได้เท่านั้น ทั้งหนี้ที่จำเลยจะต้องคืนเงินประกันแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน จำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคแรก จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวให้โจทก์นับแต่วันผิดนัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลย มีกำหนดระยะเวลาเช่า 48 เดือนนับแต่ทำสัญญาจนถึงวันที่ 5 กันยายน 2540 ค่าเช่ารถรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 31,244 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 6ของเดือน โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 450,000 บาทและมีข้อตกลงว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงโจทก์สามารถเช่าต่อได้อีก1 ปี ในอัตราค่าเช่าเดิม หรือโจทก์จะซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ในราคา810,000 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าโจทก์แจ้งให้จำเลยรับรถยนต์พร้อมคืนเงินประกัน แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินประกันจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14,700 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 464,700 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากต้นเงิน450,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์จากการผิดสัญญาอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาหรือเป็นเวลา 1 ปี

จำเลยให้การว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะซื้อรถยนต์ที่เช่าและไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืน โจทก์ยังคงครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ต่อไป จำเลยจึงตามยึดรถยนต์คืนโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงนำเงินประกันหักชำระค่าใช้ทรัพย์อัตราเดียวกับค่าเช่าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาเช่าถึงวันที่จำเลยยึดรถยนต์คืนเป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 128,480 บาทและการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าล่าช้าทำให้ขายรถยนต์ได้ราคาเพียง433,000 บาท จำเลยได้รับความเสียหายอีก 377,000 บาท ซึ่งสูงกว่าเงินประกันที่เหลือจำนวน 321,520 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 333,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2541จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536โจทก์ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์ยี่ห้อวอลโว หมายเลขทะเบียน 3 ฮ – 7014 กรุงเทพมหานครจากจำเลย มีกำหนดเวลาเช่า 48 เดือนนับแต่วันทำสัญญา อัตราค่าเช่าเดือนละ 29,200 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 2,044 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าโจทก์มีสิทธิที่จะเช่าต่อไปครั้งละ 1 ปี หรือจะซื้อรถยนต์ที่เช่าในราคา 810,000 บาทและในวันทำสัญญาโจทก์ได้วางเงินประกันจำนวน 450,000 บาท ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาในวันที่ 5 กันยายน 2540 โจทก์ผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนจำเลย ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2540 จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าคืนได้…..

จำเลยฎีกาประการต่อมามีใจความว่า เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญา โจทก์ผิดสัญญาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนจำเลยต่อมาจำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าคืน ซึ่งการที่จำเลยได้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าล่าช้าออกไปทำให้รถยนต์ที่เช่าเสื่อมสภาพเสื่อมราคา เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าออกขายได้ราคาเพียง 433,000 บาท ไม่คุ้มกับราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าโดยราคารถยังขาดอยู่ 377,000 บาท จำเลยมีสิทธินำราคารถที่ยังขาดอยู่จำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งไปหักออกจากเงินประกันของโจทก์ได้ ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5หรือ ล.1 เห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเมื่อจำเลยได้ยึดรถยนต์ที่เช่าคืนมา รถยนต์ที่เช่าดังกล่าว ชำรุดหรือมีความบุบสลายเพราะความผิดของโจทก์ อันเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายที่จำเลยกล่าวอ้างมาดังกล่าวเกิดจากความผิดของโจทก์ อันโจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562 วรรคแรก ยิ่งกว่านั้นตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.6 ก็ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องรับผิดในราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ขาดอยู่เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่อาจเรียกราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ขาดอยู่จำนวน377,000 บาท จากโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่นำราคารถยนต์ที่เช่าส่วนที่ยังขาดอยู่จำนวนดังกล่าวไปหักออกจากเงินประกันของโจทก์ให้จำเลยนั้น จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายมีใจความว่าการคืนเงินประกันแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1ข้อ 17.01 เป็นการคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินประกันที่เหลือจำนวน 333,200 บาทนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.5หรือ ล.1 ข้อ 17.01 จะระบุไว้ว่าผู้เช่าจะต้องวางเงินประกันต่อผู้ให้เช่าโดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมมีความหมายเพียงว่านับแต่วันที่โจทก์ได้วางเงินประกันต่อจำเลยจนกระทั่งครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญา ในระหว่างเวลาเช่าดังกล่าว โจทก์จะเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในต้นเงินประกันไม่ได้เท่านั้น ทั้งหนี้ที่จำเลยจะต้องคืนเงินประกันแก่โจทก์นั้นเป็นหนี้เงิน จำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2540จำเลยได้ยึดรถยนต์ที่เช่าคืนมา ครั้นวันที่ 10 มีนาคม 2541 ทนายโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์ภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบในประเทศเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12ตามลำดับ แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 19 มีนาคม 2541 แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคแรกดังกล่าว ที่ศาลชั้นล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินประกันที่เหลือจำนวน 333,200บาท นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันผิดนัดนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share