คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อ. เป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานได้อ. ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33 บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกัน ซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกันคิดเป็นเงิน 13,999.80 บาท การที่โจทก์หักค่าจ้างของ อ. ไว้เป็นเงินประกัน 9,415 บาท และโจทก์ได้นำเงินไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อันเป็นสถาบันการเงินในนาม อ. จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ อ. ทราบ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันที่โจทก์เรียกเก็บโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดชลบุรี จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานในตำแหน่งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 28/2542 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่นางสาวอุบล ศรีผ่อง จำนวน 9,415 บาท และนางสาวศุภณัฐ ตันติวุฒิจำนวน 17,399 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตาม อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกล่าวคือ นางสาวอุบลเป็นพนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสถานี เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานี นางสาวศุภณัฐเป็นพนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสถานี เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2540 และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานีบุคคลทั้งสองมีหน้าที่ควบคุมดูแลและรับผิดชอบสินค้าในร้านค้าและสถานีน้ำมันของโจทก์ที่สาขาซึ่งบุคคลทั้งสองประจำอยู่ โจทก์ได้หักเงินสะสมร้อยละ 10 ของเงินเดือนของบุคคลทั้งสองไว้เพราะในการเข้าทำงานของบุคคลทั้งสองในตำแหน่งผู้จัดการสถานีจะต้องมีการประกันด้วยเงินสดต่อโจทก์เพื่อความเสียหายและความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือเนื่องจากการกระทำของบุคคลทั้งสองเป็นเงินจำนวน 30,000บาท แต่บุคคลทั้งสองไม่สามารถส่งมอบเงินสดจำนวนดังกล่าวเพื่อเป็นประกันได้ จึงยินยอมให้โจทก์หักเงินจากค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้แต่ละครั้งเป็นจำนวนร้อยละ 10 ของค่าจ้างเพื่อให้โจทก์นำไปเข้ากองทุนจนกว่าจะครบจำนวน 30,000 บาท โดยบุคคลทั้งสองยินยอมให้โจทก์นำเงินที่สะสมไว้ไปชำระค่าเสียหายอันเกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลทั้งสองทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าภายในร้านและสถานีน้ำมันของโจทก์ หรือความเสียหายที่บุคคลทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาจ้างที่มีแก่โจทก์ ระหว่างที่บุคคลทั้งสองปฏิบัติงานโจทก์ได้ตรวจสอบสินค้าภายในร้านและสถานีน้ำมันพบว่ารายนางสาวอุบล ในการตรวจสอบสินค้าระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2541 ยอดขายสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเงิน 2,073,184 บาท ปรากฏว่ายอดสินค้าขาดไปจำนวน 99,135.50 บาท และจากรายงานการตรวจสอบสินค้าถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2541 พบว่าการสูญหายในร้านคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 104,005.90 บาท รายนางสาวศุภณัฐ ในการตรวจสอบสินค้าระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ยอดขายสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเงิน 2,543,764 บาท ปรากฏว่ายอดขายสินค้าขาดไปจำนวน 123,269.50 บาท จากการตรวจสอบสินค้าของบุคคลทั้งสองมีสินค้าสูญหายเกินร้อยละ 3 ขึ้นไป ซึ่งตามประกาศเรื่องแนวทางปฏิบัติในการควบคุมสินค้าสูญหายของโจทก์ หากยอดสูญหายตั้งแต่ร้อยละ 3 ขึ้นไปให้พ้นจากการเป็นพนักงาน บุคคลทั้งสองทราบประกาศดีจึงได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์จึงไม่คืนเงินประกันให้แก่บุคคลทั้งสองเพราะโจทก์ต้องนำไปชำระค่าสินค้าที่สูญหายตามสัญญาประกัน การที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่บุคคลทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 28/2542 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 และให้จำเลยทั้งสองยกคำร้องของนางสาวศุภณัฐ ตันติวุฒิ และนางสาวอุบล ศรีผ่อง กับคืนเงินจำนวน 26,814 บาท แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงจากฝ่ายลูกจ้างทั้งสองและออกหนังสือเชิญให้โจทก์ไปแสดงพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าการหักค่าจ้างของลูกจ้างทั้งสองไว้เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 76 โจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างว่าเป็นการหักค่าจ้างสะสมร้อยละ 10 ของเงินเดือนเพื่อประกันความเสียหายและความรับผิดต่าง ๆของลูกจ้างทั้งสอง การหักเงินเดือนของลูกจ้างเพื่อประกันดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิกระทำได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 สั่งให้โจทก์จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่นางสาวศุภณัฐ ตันติวุฒิ จำนวน 17,399 บาท และนางสาวอุบล ศรีผ่อง จำนวน 9,415 บาท นางสาวอุบล เข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2540 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานีสาขาตลาดหนองมน จังหวัดชลบุรี ลาออกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2541 โจทก์หักเงินเดือนของนางสาวอุบลไว้จำนวน 9,415 บาท นางสาวศุภณัฐ เข้าทำงานกับโจทก์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2540 ต่อมาได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสถานีสาขาบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ลาออกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โจทก์หักเงินเดือนของนางสาวศุภณัฐไว้จำนวน 17,399 บาท นางสาวอุบลและนางสาวศุภณัฐลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือยินยอมให้หักเงินเพื่อเป็นประกันการทำงาน หากมีสินค้าสูญหายเกินร้อยละ 2 ของยอดขาย ส่วนที่สูญหายเกินนั้นทางสถานีจะต้องชดใช้โดยมีอัตราส่วนผู้จัดการสถานีร้อยละ 35ผู้ช่วยผู้จัดการสถานีร้อยละ 25 เมอร์ซานไดเซอร์และแคชเชียร์รวมกันร้อยละ 40 เมื่อนางสาวอุบลเคยเป็นทั้งผู้ช่วยผู้จัดการสถานีและผู้จัดการสถานีในช่วงที่มีการตรวจสอบแม้จะอ้างว่าตรวจสอบย้อนขึ้นไปถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการสถานีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสถานี จึงยังคงต้องร่วมรับผิดในอัตราส่วนดังกล่าวรายนางสาวอุบลรับฟังได้ว่าสินค้าขาดหายเป็นเงิน99,135 บาท เมื่อคำนวณยอดสินค้าขาดหายในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสินค้าแล้วคิดเป็นเงิน 41,463.68 บาท ส่วนที่เกินร้อยละ 2 ที่จะต้องร่วมรับผิดด้วยกันเป็นเงิน57,671.32 บาท เมื่อคิดอัตราส่วนที่ผู้ช่วยผู้จัดการสถานีจะต้องรับผิดในอัตราร้อยละ 25แล้ว คิดเป็นเงิน 14,417.83 บาท หากคิดในอัตราส่วนที่ผู้จัดการสถานีจะต้องรับผิดในอัตราร้อยละ 35 แล้วจะสูงกว่านี้ แต่เงินที่โจทก์หักไว้เป็นจำนวน 9,415 บาท ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่นางสาวอุบลจะต้องรับผิด โจทก์จึงมีสิทธินำเงินที่หักไว้ไปชำระค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องได้ ส่วนนางสาวศุภณัฐเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการสถานีที่มีการตรวจสอบยอดสินค้าเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์ตรวจสอบยอดสินค้าในรอบระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการรวมยอดสินค้าก่อนที่นางสาวศุภณัฐจะเข้ารับตำแหน่งไว้ด้วยเป็นส่วนใหญ่ คงมีรายการสินค้าที่นางสาวศุภณัฐจะต้องรับผิดเพียง 11 วัน แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าในเวลา11 วัน ที่นางสาวศุภณัฐเข้ารับตำแหน่งมีสินค้าสูญหายไปเท่าใดเกินร้อยละ 2 ของยอดขายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่ามีสินค้าสูญหายเกินร้อยละ 2 ของยอดขายที่นางสาวศุภณัฐจะต้องรับผิดชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินที่หักไว้ไปชำระค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องได้ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542เรื่อง สั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเฉพาะส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่นางสาวอุบล ศรีผ่องจำนวน 9,415 บาท ให้คืนเงินที่โจทก์นำมาวางศาลไปจำนวน 9,415 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การที่โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันการทำงานนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และโจทก์มีสิทธินำเงินของนางสาวอุบลที่หักไว้มาชดใช้ความเสียหายในการทำงานหรือไม่ พิเคราะห์ เห็นว่า ขณะที่โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันการทำงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2541 อยู่ในระหว่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 มีผลใช้บังคับซึ่งไม่มีข้อใดห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกเงินประกันการทำงาน ครั้นต่อมานับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 จึงได้มีการกำหนดข้อห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอีกต่อไปโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคสอง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างเว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการวางหลักการไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ห้ามนายจ้างเรียกเงินประกันการทำงานอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี แต่ได้เปิดช่องไว้ว่า บางกรณีนายจ้างก็ยังมีสิทธิเรียกเงินประกันการทำงานได้หากเข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำหนด และต่อมาก็ได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ได้กำหนดลักษณะงานที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างไว้ในข้อ 4(6) คือ งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อขาย เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น ข้อ 5 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันตามข้อ 4 จำนวนเงินที่เรียกหรือรับไว้จะต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกัน และข้อ 7 กำหนดว่า ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ทั้งนี้นายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันโดยวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใด นอกจากที่กำหนดไว้นี้มิได้ ดังนี้เมื่อได้ความว่านางสาวอุบลเป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่านางสาวอุบลได้รับค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยในวันที่โจทก์รับเงินประกันจากนางสาวอุบลจำนวนวันละ 233.33 บาท โจทก์ได้หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันทั้งสิ้นจำนวน 9,415 บาท โดยโจทก์นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร จำกัด ในนามนางสาวอุบล รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 10,145.44 บาท แต่โจทก์ไม่เคยแจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีซึ่งโจทก์นำเงินประกันฝากไว้ให้นางสาวอุบลทราบ การที่นางสาวอุบลได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33 บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกัน ซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกันคิดเป็นเงิน 13,999.80 บาท โจทก์หักค่าจ้างของนางสาวอุบลไว้เป็นเงินประกันจำนวน 9,415 บาท จึงเป็นจำนวนที่โจทก์สามารถเรียกได้ และโจทก์ได้นำเงินประกันดังกล่าวไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร จำกัด อันเป็นสถาบันการเงินในนามนางสาวอุบล จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้วแม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงินชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้นางสาวอุบลทราบ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ข้อ 7 ดังกล่าวข้างต้นก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายในการทำงานที่โจทก์เรียกเก็บจากนางสาวอุบลโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำเงินประกันดังกล่าวมาหักจากค่าเสียหายที่นางสาวอุบลก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการทำงานได้ และโจทก์ไม่ต้องคืนเงินประกันแก่นางสาวอุบลตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 28/2542 เฉพาะส่วนที่สั่งให้จ่ายเงินแก่นางสาวอุบลจำนวน 9,415 บาท นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share