คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก.ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าโดยไม่แบ่งให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาท โจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ตามส่วน ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกใหม่ได้ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์ตามส่วน โดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวย่อมมีความหมายว่า แม้จะมีการโอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและการจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ก.ยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดก ก.ผู้ตาย และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ทั้งโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอแบ่งปันทรัพย์มรดกใหม่ได้ โดยไม่จำต้องฟ้องเพิกถอนการโอนดังกล่าว
ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก.ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม2524 โจทก์ได้ฟ้องคดีเพื่อแบ่งทรัพย์มรดก กรณีถือได้ว่าการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
ที่ผู้ร้องทั้งห้าฎีกาว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องคดีขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก และผู้ร้องที่ 4 ที่ 5 เป็นจำเลย ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share