แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เทศบาลนั้น ถือว่าเป็นระเบียบการภายใน ไม่มีผลบังคับทั่วไป และประชาชนไม่จำต้องรับรู้ ฉะนั้นความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวจะต้องรับผิดหรือไม่ ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงและเหตุผลเป็นเรื่อง ๆ ไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ ๑ เป็นนายกเทศมนตรี จำเลยที่ ๒ เป็นปลัดเทศบาล จำเลยที่ ๓ เป็นสมุหบัญชีเทศบาลเมืองหนองคาย จำเลยย่อมรู้หรือมีเหตุผลที่ควรรู้ว่า มีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบชดใช้เงินแก่เทศบาลจนครบ เมื่อปรากฎว่ามีการทุจริตอันเกี่ยวแก่การเก็บรักษเงินรายได้หรือเงินอื่นใดของเทศบาลทุกหน่วยงานของเทศบาลทุกหน่วยตามระเบียบของกระทราวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เทศบาล จำเลยประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ของจำเลย เป็นเหตุให้นายนเรศร์ ธรรมวงษา พนักงานแผนกการไฟฟ้าของเทศบาลยักยอกเงินของโจทก์ไป ๑๒๗,๓๔๕,๘๔ บาท ขอให้จำเลยร่วมกันรับผิดใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า มิได้รับมอบหมายให้ทราบระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และมิได้ประมาทเลินเล่อหรือมีส่วนร่วมรู้การกระทำละเมิดนั้น
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า มิได้ประมาทเลินเล่อระเบียบที่โจทก์อ้างมิใช่กฎหมาย และฟ้องเคลือบคลุม
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า หน้าที่จัดทำบัญชีและรักษาเงินตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยตกเป็นหน้าที่ของนายนเรศร์กับจำเลยที่ ๑-๒ มูลเหตุแห่งความประมาทเลินเล่อเกิดจากความผิดของจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์แล้วงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า ป.พ.พ.มาตรา ๘๒๐ ใช้ได้เฉพาะการละเมิดที่ผู้นั้นกระทำด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือละเว้นไม่ทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้ทำ การประมาทเลินเล่อโดยฝ่าฝืนระเบียบของกระทรวงมหาดไทยไม่มีผลโดยตรงและไม่มีผลบังคับ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ที่เขาสั่งหรือวางระเบียบการไว้ หรือประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ แต่จะรับผิดหรือไม่เพียงใด ต้องแล้วแต่พฤติการณ์จากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มูลแห่งความรับผิดเพื่อละเมิดอันเกิดจากการละเลยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงิน การรักษาเิงนและการตรวจเงินของเทศบาลที่จะให้จำเลยต้อรับผิดหรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ และต้องปรากฎเหตุผลอื่น ๆ อีก เพราะระเบีบบดังกล่าวเป็นระเบียบการภายในวงงานอันจำกัด ไม่มีผลบังคับทั่วไป และประชาชนไม่จำต้องรู้ พิพากษายืน