แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การเรียกร้องขอคืนอากรที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงจะต้องเป็นกรณีผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรที่ชำระไว้เกินนั้นประการหนึ่งกับพนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออกอีกประการหนึ่ง ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา10 วรรคห้า การที่โจทก์นำเข้ากล้องถ่ายโทรทัศน์ซึ่งเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 8525.30 ต้องเสียอากรร้อยละ 5 โดยยื่นใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเครื่องบันทึกภาพวีดีโอครบชุด มีภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “1/2InchHSCompactMovie,CameraW/Accessories” และเสียอากรร้อยละ 30 ตามพิกัดประเภทที่ 8521.10 ซึ่งไม่ถูกต้อง กรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยพึงต้องรู้ เพราะใบขนสินค้านั้นจะทำขึ้นเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 113 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องคัดเลือกพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษพอสมควรมาทำหน้าที่ตรวจสอบใบขนสินค้าและตรวจสอบของก่อนสั่งปล่อย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าภาษีอากรขาเข้าที่โจทก์ได้ชำระไว้เป็นเงิน 116,912 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินอากรที่ได้เสียไว้เกิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 116,912 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับคืนเงินอากรที่เสียเกินไปหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าบัญญัติไว้ว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากร เพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณน้ำหนักหรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆนั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าวหรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสีย สำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก” จากกฎหมายดังกล่าว การเรียกร้องขอคืนอากรที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง จะต้องเป็นกรณีผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรที่ชำระไว้เกินนั้นประการหนึ่งกับอีกประการหนึ่งคือ พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก สำหรับคดีนี้กรณีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเพียงว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบสินค้าพิพาทให้โจทก์หรือตัวแทนโจทก์รับไปว่าอากรที่โจทก์ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่โจทก์พึงต้องเสียหรือไม่โจทก์นำสืบว่าสินค้ารายพิพาทที่โจทก์นำเข้าได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่า เครื่องบันทึกภาพวีดีโอครบชุดโดยมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “1/2 Inch HS Compact Movie, CameraW/Accessories” ซึ่งคำว่า Camera หมายถึงเครื่องถ่ายโทรทัศน์มิใช่เครื่องบันทึกภาพวีดีโอ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมรู้ว่าโจทก์สำแดงพิกัดสินค้ารายพิพาทผิด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพึงต้องรู้ขณะส่งมอบของให้โจทก์ว่าสินค้ารายพิพาทโจทก์สำแดงพิกัดผิดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 113 บัญญัติว่า “บรรดาใบขนสินค้า บัญชีสมุดบัญชี บันทึกเรื่องราวหรือเอกสารไม่ว่าประเภทใด ๆ ให้ทำและถือไว้เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า ใบขนสินค้านั้นจะทำขึ้นเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ดังนั้น จำเลยจำเป็นต้องคัดเลือกพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษพอสมควรมาทำหน้าที่ตรวจสอบใบขนสินค้าและตรวจสอบของก่อนสั่งปล่อยสินค้าว่าสินค้าที่นำเข้าตรงกับที่สำแดงไว้หรือไม่ และต้องถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยผู้มีหน้าที่ดังกล่าว มีความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษพอสมควร ในภาษาอังกฤษคำว่า “Camera” มีความหมายว่า “กล้อง” ส่วนคำว่า “Recorder”มีความหมายว่า “เครื่องบันทึก” เป็นคำสามัญทั่วไปไม่ใช่คำที่ใช้ในทางเทคนิคโดยเฉพาะ ทั้งในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 85.21 ที่ระบุถึงเครื่องบันทึกภาพวีดีโอก็ใช้คำว่า “ideo Recording” ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรที่ 8525.30 ที่ระบุถึงกล้องถ่ายโทรทัศน์ก็ใช้คำว่า “Television Camera” ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบใบขนสินค้าว่าสำแดงรายการไว้ถูกต้องหรือไม่หากใช้ความระมัดระวังและตรวจสอบรายการสินค้าที่โจทก์สำแดงกับพิกัดอัตราศุลกากรที่โจทก์ระบุไว้ก็น่าจะพบว่ารายการสินค้าภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ตรงกัน ทั้งกล้องถ่ายโทรทัศน์นั้นมีใช้มานานแล้วแม้จะมีหลายรุ่นหลายยี่ห้อ แต่ก็มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากเครื่องบันทึกภาพวีดีโอเห็นได้ชัดเจนคู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์ได้แนบแคตตาล็อกสินค้ามาด้วยตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 เมื่อพิเคราะห์ภาพของสินค้าพิพาทในแคตตาล็อกดังกล่าวแล้ว บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นกล้องถ่ายโทรทัศน์ไม่ใช่เครื่องบันทึกภาพวีดีโอ นางสาวสุนันท์ วุฒิวิกัยการ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานกองพิธีการและประเมินอากรที่ทำหน้าที่ประเมินราคาและภาษีอากรสินค้าก็เบิกความเจือสมพยานจำเลย คำว่า “Camera” ตามที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าแปลว่า “กล้องถ่ายโทรทัศน์” แต่พยานมิได้เป็นผู้ประเมินสินค้ารายนี้ นางกาญจน์นาฏ วงษ์ศิริเลิศ ผู้ตรวจปล่อยสินค้ารายนี้ก็เบิกความว่า ตรวจปล่อยสินค้าพิพาทไปโดยเข้าใจผิดว่า กล้องถ่าย หมายถึงกล้องใหญ่ที่ใช้ในโรงภาพยนตร์เท่านั้นจึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพึงต้องรู้ก่อนส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่โจทก์ว่า โจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรผิดและอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับสินค้าพิพาทที่ส่งมอบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10วรรคห้า โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนอากรได้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน