แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 เป็นเรื่องที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติการชำระหนี้แต่การที่จำเลยมีหนังสือสอบถามโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่า ถ้าประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาก็ให้ติดต่อจำเลยภายใน 15 วันนั้น ไม่ใช่ให้โจทก์ชำระหนี้ตามข้อตกลงในสัญญา ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ติดต่อจำเลยมาตามกำหนด จำเลยก็จะถือเอาเหตุนี้มาใช้บอกเลิกสัญญาไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 แล้วแบ่งแยกที่ดินโอนให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหากปฏิบัติไม่ได้ให้คืนมัดจำและใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์มาติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 เฉพาะส่วนจำนวน 240 ตารางวา จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระงับไปแล้วโดยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 นั้น ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 บอกเลิกการมอบอำนาจมิให้นายวิเศษเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1ในการขายที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5แจ้งเรื่องนี้ไปให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์แจ้งเรื่องการทำสัญญาจะซื้อขายและการวางเงินมัดจำให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยเร็ว ปีเศษหลังจากนั้นคือเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2523 จำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 ถึงโจทก์แจ้งให้ทราบว่าถ้าโจทก์ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย ก็ให้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ภายใน15 วัน ครั้นวันที่ 22 มกราคม 2523 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับการติดต่อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.3บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ แต่การที่ฝ่ายโจทก์ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือประสงค์ที่จะผูกพันกันต่อไปตามสัญญาจะซื้อจะขายตามหนังสือที่จำเลยที่ 1 สอบถามไปหรือไม่นี้ไม่ใช่หนี้ที่โจทก์จะต้องปฏิบัติการชำระ เพราะมิใช่ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1ถือเอาเหตุนี้มาใช้ในการบอกเลิกสัญญา จึงไม่เป็นเหตุให้สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สิ้นความผูกพันกันไปแต่ประการใด
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริตไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทไว้กับโจทก์ก่อนนั้น ข้อนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบรับกันฟังได้ว่า นางทองคำ สุทธิละออ พี่สาวของจำเลยที่ 1เคยไปติดต่อขอให้จำเลยที่ 2 ไปรับชำระหนี้ที่นางสมศรีภรรยาจำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้จำเลยที่ 2 ที่สำนักงานทนายความของนายวิเศษ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 กับนางทองคำไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ฉะนั้นนางทองคำเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 อย่างไรเหตุใดจึงมาติดต่อให้จำเลยที่ 2 รับชำระหนี้ เชื่อว่านางทองคำคงจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ เหตุนี้ คำเบิกความของนางทองคำที่ว่าแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าที่ขอให้จำเลยที่ 2 รับชำระหนี้ก็โดยจะเอาที่ดินมาขายเพราะนายวิเศษได้ตกลงรับมัดจำจากผู้จะซื้อไว้แล้วจึงมีน้ำหนัก ทั้งเมื่อพิเคราะห์คำให้การของจำเลยที่ 1ที่ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 จะต้องขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ2,800 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ตกลงไว้กับโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 2ทราบเรื่องนี้ก่อนตกลงซื้อขายกับจำเลยที่ 1 แล้ว จึงน่าเชื่อว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 จะรับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องโอนที่พิพาทให้ผู้อื่นตามสัญญา ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่ารับโอนที่พิพาทไว้โดยสุจริตนั้นไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทไว้โดยไม่สุจริต ชอบที่โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ฟ้องได้
สำหรับปัญหาเรื่องความเสียหายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานนั้น ข้อนี้โจทก์มีโจทก์ที่ 4 เป็นพยานยืนยันว่าไปติดต่อขอซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะขายในราคาตารางวาละ3,200 บาท แพงขึ้นกว่าเดิมถึง 400 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในราคาตารางวาละ 200 บาท จึงหาเป็นการเกินสมควรทำนองที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่”
พิพากษายืน