คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเลิกกันหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเพื่อชำระหนี้บางส่วน ย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยทั้งเจ็ดมีข้อตกลงกันให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วได้ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อศาลลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 (วันที่โจทก์ยื่นคำขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) นั้นไม่ เพราะการที่จำเลยทั้งเจ็ดริบเงินไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นยุติแล้วว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 64,952,868.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 61,232,352.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งเจ็ดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4511, 4381, 4382 และ 2982 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่บริษัทเซียร่า โปรเจ๊คส์ จำกัด แล้วถูกบริษัทเซียร่า โปรเจ๊คส์ จำกัด ฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คดีหมายเลขดำที่ 354/2549 ขอให้คืนเงินมัดจำ ครั้นวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4511, 4381, 4382, 2982, 4371, 4372 และ 48153 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 7 แปลง จากจำเลยทั้งเจ็ด ในราคา 106,026,600 บาท แบ่งชำระราคาที่ดินเป็นสองส่วน ส่วนแรกร้อยละ 30 ของราคาที่ดิน คิดเป็นเงิน 31,807,980 บาท โดยชำระเป็นเงินมัดจำในวันทำสัญญา 10,000,000 บาท และชำระในวันที่ 15 สิงหาคม 2549 อีก 21,807,980 บาท ส่วนที่สองร้อยละ 70 ของราคาที่ดิน คิดเป็นเงิน 74,218,620 บาท ชำระพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในวันที่ 14 ตุลาคม 2549 โจทก์ชำระเงินมัดจำ 10,000,000 บาท ในวันทำสัญญา และชำระราคาที่ดินส่วนแรกที่เหลือจำนวน 21,807,980 บาท ให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดในวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับสำเนาตั๋วแลกเงิน ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2549 โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเลื่อนการชำระราคาส่วนที่สองและวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากวันที่ 14 ตุลาคม 2549 เป็นวันที่ 29 ธันวาคม 2549 โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์ต้องชำระราคาที่ดิน 3,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งเจ็ดในวันที่ 13 ตุลาคม 2549 และต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของจำนวนเงิน 71,218,620 บาท ให้แก่จำเลยทั้งเจ็ด นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป ตามสำเนาบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากนั้นวันที่ 13 ตุลาคม 2549 โจทก์ชำระราคาที่ดิน 3,000,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งเจ็ด และชำระดอกเบี้ยตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยทั้งเจ็ด ครั้งละ 712,186.20 บาท รวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 และวันที่ 14 ธันวาคม 2549 ตามลำดับ ตามสำเนาแคชเชียร์เช็คและใบเสร็จรับเงินเมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 29 ธันวาคม 2549 โจทก์ยื่นคำขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน แล้วมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเงินที่โจทก์ชำระไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดปิดบังข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดิน เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีข้อพิพาทเป็นคดีความอยู่ที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่ดินดังกล่าวมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสาธารณูปโภคโดยเฉพาะเรื่องน้ำประปา ไม่สามารถนำไปพัฒนาและทำธุรกิจตามเจตนาและวัตถุประสงค์ที่โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งเจ็ด แต่จำเลยทั้งเจ็ดปฏิเสธไม่ชำระอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีเงินชำระราคาที่ดินตามกำหนดเวลาที่ขอเลื่อนนัด ภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้บริษัทไวทอลเรสสิเดนซ์ จำกัด ใช้ประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ตามสำเนาสัญญาซื้อขาย และแผ่นพับโฆษณา โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่อาจยกเหตุตามฟ้องขึ้นบอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ 10,000,000 บาท ที่โจทก์ชำระไว้ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้าน จึงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งเจ็ดมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา มีสิทธิริบเงินมัดจำตามสัญญา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดข้อแรกว่า เงินจำนวน 26,232,352.40 บาท เป็นเบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดลงหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ…” ดังนั้น เบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดในสัญญาไว้ล่วงหน้าว่า หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติผิดสัญญาในภายหน้า เนื่องจากการไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ซึ่งเงินจำนวน 26,232,352,40 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดแยกเป็นราคาที่ดินส่วนแรก 21,807,980 บาท ราคาที่ดินที่ต้องชำระเพิ่ม 3,000,000 บาทและค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน 712,186.20 บาท จำนวน 2 ครั้ง เมื่อสัญญาเลิกกันหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเพื่อชำระหนี้บางส่วนดังกล่าวย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยทั้งเจ็ดมีข้อตกลงกันให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทั้งเจ็ดว่ามีสิทธิริบเงินมัดจำ 10,000,000 บาท ประกอบกับสามารถขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่ตกลงจะขายให้แก่โจทก์ จึงกำหนดให้จำเลยทั้งเจ็ดริบเบี้ยปรับไว้ 4,232,352.40 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ถือว่าเป็นจำนวนเงินสมควรแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 (วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ด จึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วได้ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อศาลลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 นั้นไม่ เพราะการที่จำเลยทั้งเจ็ดริบเงินดังกล่าวไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นที่ยุติแล้วว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share