คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 22 วรรคสาม ไม่มีข้อความตอนใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมด นายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่สำหรับคดีนี้การที่โจทก์ปิดงานเฉพาะลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. และผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกจ้างโจทก์คนใดบ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. หรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงานนั้น เมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน บ. ซึ่งแจ้งข้อเรียกร้อง โดยสหภาพแรงงาน บ. มีสมาชิกประมาณ 125 คน จากลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดประมาณ 200 คน ซึ่งเกินกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด การที่จะตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าลูกจ้างของจำเลยคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ที่ถือว่าเป็นผู้ร่วมแจ้งข้อเรียกร้องด้วยนั้น โจทก์สามารถกระทำได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคสาม โจทก์จึงมีหนทางที่จะทราบว่าลูกจ้างคนใดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ แต่โจทก์ก็หาได้ขวนขวายที่จะตรวจสอบไม่ และการที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์ปิดงานเฉพาะผู้แทนการเจรจาของสหภาพแรงงาน บ. เนื่องจากไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการเจรจาสหภาพแรงงาน บ. ส่งผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้างรวม 7 คน แต่โจทก์กลับเลือกปิดงานเฉพาะกับลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปิดงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานอันถือเป็นการปิดงานตามนิยามคำว่า “การปิดงาน” ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เป็นการจงใจเลือกปฏิบัติใช้การปิดงานโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ลูกจ้างทั้ง 5 คน ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่สหภาพแรงงาน บ. ได้ยื่นข้อเรียกร้องและเป็นการขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (1) และ (4) การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 26-30/2555 กับให้จำเลยทั้งสิบสามชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่มีคำสั่ง พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของต้นเงิน 1,000,000 บาท ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน และให้จำเลยทั้งสิบสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนโจทก์
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 26-30/2555 ลงวันที่ 26 มกราคม 2555 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า สหภาพแรงงานบีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อโจทก์ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ วันที่ 25 สิงหาคม 2554 โจทก์ใช้สิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะกรรมการสหภาพแรงงานและผู้แทนเจรจาที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ รวม 5 คน คือ นายชอบ นางสาวกวน นายประโยชน์ นายอำนาจและนายสัญญา จนวันที่ 21 กันยายน 2554 สหภาพแรงงานขอถอนข้อเรียกร้อง โจทก์จึงให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ต่อมาลูกจ้างไปยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบสาม ซึ่งได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 26-30/2555 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ปิดงานบางส่วนได้ โดยโจทก์ปิดงานเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง 5 คน ที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแรงงานและไม่ได้ปิดงานโดยจงใจกลั่นแกล้งลูกจ้างทั้ง 5 คน จึงให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสาม แต่จำเลยทั้งสิบสามมิได้ทำให้โจทก์เสียหาย จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 26-30/2555 หรือไม่ จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ว่า ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามเนื่องจากการปิดงาน นายจ้างต้องใช้สิทธิปิดงานต่อลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทั้งหมดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 การที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะเจาะจงกับกรรมการสหภาพแรงงานและผู้แทนลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเจรจาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งที่โจทก์ทราบว่าผู้แจ้งข้อเรียกร้องมีมากกว่าจำนวนกรรมการสหภาพแรงงานและผู้แทนลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเจรจา จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อเป็นการขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 22 วรรคสาม ไม่มีข้อความตอนใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมด นายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่สำหรับคดีนี้การที่โจทก์ปิดงานเฉพาะลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานบีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี และผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกจ้างโจทก์คนใดบ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานบีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี หรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงานนั้น เมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานบีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี ซึ่งแจ้งข้อเรียกร้องโดยสหภาพแรงงานมีสมาชิกประมาณ 125 คน จากลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดประมาณ 200 คน ซึ่งเกินกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด การที่จะตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าลูกจ้างของจำเลยคนใด เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถือเป็นผู้ร่วมแจ้งข้อเรียกร้องด้วยนั้น โจทก์สามารถกระทำได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคสาม โจทก์จึงมีหนทางที่จะทราบว่าลูกจ้างคนใดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี ได้ แต่โจทก์ก็หาได้ขวนขวายที่จะตรวจสอบไม่ และการที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์ปิดงานเฉพาะผู้แทนการเจรจาของสหภาพแรงงานเนื่องจากไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการเจรจาสหภาพแรงงานบีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี ส่งผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้างรวม 7 คน แต่โจทก์กลับเลือกปิดงานเฉพาะกับลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานบีเมเยอร์ แอนด์ ที.จี แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปิดงานเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานอันถือเป็นการปิดงานตามนิยามคำว่า “การปิดงาน” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เป็นการจงใจเลือกปฏิบัติใช้การปิดงาน โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ลูกจ้างทั้ง 5 คน ได้รับความเสียหายไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องและเป็นการขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (1) และ (4) การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 26-30/2555 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 26-30/2555 ลงวันที่ 26 มกราคม 2555 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1

Share