แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิต่อกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดิน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างอาคาร โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างสร้างอาคารพาณิชย์กับจำเลยที่ 2 และทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์กับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 28 ปี แต่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ไม่มีการสร้างส่วนที่เป็นที่พลาซ่าและส่วนที่เป็นตลาด โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสอง ซึ่งตามสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิ ระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับผลประโยชน์จากการก่อสร้างอาคารตามรูปแบบที่กำหนดไว้ชัดเจน ในลักษณะที่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกแบบแปลนและแก้ไขแบบแปลนตามความต้องการได้ การยื่นขออนุญาตแบบแปลนอาคารใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมรูปแบบการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา และยอมให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิหาคนเช่าและเรียกเงินค่าก่อสร้างจากผู้มาจองเช่าอาคาร โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้กับผู้มาจอง โดยเฉพาะอาคารพลาซ่าระบุว่าเมื่อหักค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายแล้วกำไรให้แบ่งกันคนละครึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญาร่วมประโยชน์ในทางการค้าที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดตามที่ได้แจ้งแก่โจทก์ผู้ทำสัญญาว่าจ้างอาคารกับจำเลยที่ 2 เพื่อให้ได้สิทธิจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาก่อสร้างยกสิทธิ เมื่อการก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ทำสัญญาก่อสร้างอาคารกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์คืนเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาร่วมกันทางการค้าเพื่อก่อสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ อาคารพลาซ่า และอาคารขายสินค้าแบบแผงตลาดบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1187 และ 1189 ของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการเกี่ยวกับแบบก่อสร้างและขออนุญาตก่อสร้างในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อทำเป็นศูนย์การค้า เมื่อก่อสร้างเสร็จอาคารตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนให้ผู้ออกเงินช่วยค่าก่อสร้างเช่ามีกำหนด 30 ปี โจทก์ตกลงทำสัญญาออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวอาคารพาณิชย์ 1 คูหา จำนวน 1,200,000 บาท จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างตึกแถวเสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ และไม่ดำเนินการทำเป็นศูนย์การค้า เมื่อโจทก์จะฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 จึงตกลงจะดำเนินการทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์การค้าและตกแต่งอาคารให้สมบูรณ์ใช้ประโยชน์ได้ใน 3 เดือน กับจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนการเช่าให้มีกำหนด 28 ปี แต่จำเลยทั้งสองไม่ทำการก่อสร้างตามที่ตกลงไว้ ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำการค้าหรือใช้ประโยชน์ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 2,940,144 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,283,651 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 เมษายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิต่อกัน ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดิน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปลูกสร้างอาคาร สัญญาดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้ปลูกสร้างอาคารบนที่ดินเป็น 3 รูปแบบ คือ อาคารพลาซ่า อาคารพาณิชย์ขนาด 3.75 ชั้น และอาคารขายสินค้าแบบแผงตลาด โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างสร้างอาคารพาณิชย์ 3.75 ชั้น กับจำเลยที่ 2 ในราคา 1,200,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 28 ปี ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.7 แต่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ไม่มีการสร้างส่วนที่เป็นพลาซ่า และส่วนที่เป็นตลาด โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่หุ้นส่วนกับจำเลยที่ 2 เพราะสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีกำหนดส่วนแบ่งกำไรขาดทุนกัน และจำเลยทั้งสองไม่เคยเจรจาตกลงกับโจทก์และผู้เช่าคนใดว่าจำเลยทั้งสองจะจัดสร้างอาคารพลาซ่าให้เสร็จใน 1 ปี หรือซ่อมแซมอาคารที่เช่าให้เสร็จใน 3 เดือน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ระบุชัดว่า จำเลยที่ 1 จะได้รับผลประโยชน์จากการก่อสร้างอาคารตามรูปแบบที่กำหนดไว้ชัดเจน ในลักษณะที่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกแบบแปลนและแก้ไขแบบแปลนตามความต้องการได้ การยื่นขออนุญาตแบบแปลนอาคารใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมรูปแบบการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว และยอมให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิหาคนเช่าและเรียกเงินค่าก่อสร้างจากผู้มาจองเช่าอาคารดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่ผู้มาจองมีกำหนด 30 ปี โดยเฉพาะอาคารพลาซ่าระบุว่าเมื่อหักค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายแล้วกำไรให้แบ่งกันคนละครึ่งระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นคู่สัญญาร่วมประโยชน์ในทางการค้าที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดตามที่ได้แจ้งแก่โจทก์ผู้ทำสัญญาว่าจ้างสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.4 กับจำเลยที่ 2 เพื่อได้สิทธิจดทะเบียนเช่ากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิเอกสาร จ.1 และ จ.3 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงกับโจทก์ในเวลาต่อมาว่าจำเลยทั้งสองจะจัดสร้างอาคารพลาซ่าให้เสร็จใน 1 ปี หรือจะซ่อมแซมอาคารที่เช่าให้เสร็จใน 3 เดือน นั้น เห็นว่า ตามสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิเอกสารหมาย จ.3 ได้ระบุเรื่องกำหนดเวลาก่อสร้างของอาคารต่าง ๆ ไว้ชัดเจนแล้ว เช่นกรณีตึกแถวอาคารพาณิชย์ 3.75 ชั้น กำหนดเวลาก่อสร้าง 1 ปี เป็นต้น จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา เมื่อการก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ไม่มีส่วนที่สร้างพลาซ่า ไม่มีตลาดสด จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและสัญญาเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จากจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาเช่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำไปเช่าช่วง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาได้ แม้จะได้มีการบอกเลิกสัญญาแล้วซึ่งในข้อนี้ได้ความว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้อาคารที่เช่า ไม่ใช่เป็นการกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์จะนำไปให้เช่าช่วงดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ อีกทั้งค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์มานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน