คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยร่วมให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมาย เป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ชัดแจ้งแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทด้วยว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีซึ่งเป็นการมอบให้บุคคลเดียวกระทำการครั้งเดียว เพราะเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเดียว ที่หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท จึงครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรแล้ว เมื่อจำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าเสียหายจำเลยร่วมจะฎีกาปัญหาดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เกินกว่า 180 วันในเวลาเกิดเหตุซึ่งจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรมประกันภัยข้อ 2.13 ก็ตาม แต่ตามข้อ 2.14 ระบุเป็นใจความว่าบริษัท (จำเลยร่วม) จะไม่ยกข้อ 2.13 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที ดังนั้นจำเลยร่วมไม่มีสิทธิที่จะยกเอาเหตุที่ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ขาดการต่ออายุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะตามข้อ 2.1 ได้แต่ยกขึ้นว่ากล่าวเอากับผู้เอาประกันภัย จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของนายทองแดง ประสารโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 3 ฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนางบุญนอง กันยารัตน์ กับนายทองแดง โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนายทองแดง จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโดยได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์ที่นายทองแดง นางบุญนอง และโจทก์ที่ 2 โดยสาร เป็นเหตุให้นายทองแดงนางบุญนองถึงแก่ความตาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าทำศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาล เป็นเงิน98,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน39,000 บาท นับแต่วันฟ้อง และจากต้นเงิน 59,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้อง เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์อีกฝ่ายหนึ่ง ค่าเสียหายสูงเกินไป ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะหนังสือมอบอำนาจมิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 หรือปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเพราะผู้ขับขี่ขาดต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เกินกว่า 180 วันทั้งโจทก์ทั้งสามเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจะพึงต้องใช้ค่าเสียหายฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความ ค่าเสียหายไม่เกิน22,000 บาท เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์อีกฝ่ายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน74,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ทั้งสามโดยในเงินจำนวนนี้ให้จำเลยร่วมรับผิดด้วยเป็นเงิน54,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นว่า หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อนี้จำเลยร่วมให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 มิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ชัดแจ้งแล้วว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ชอบเพราะมิได้ปิดอากรแสตมป์หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย คำให้การของจำเลยร่วมเช่นนี้จึงมีประเด็นพิพาทด้วยว่า หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ และเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหาใช่ว่า จำเลยร่วมเพิ่งยกข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ ฯลฯแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจนั้น เป็นหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้นายมิตร ประสาร ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียวเพราะเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเดียว ที่หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท จึงครบถ้วนแล้วตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรและรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้นายมิตรประสาร ฟ้องคดีนี้จริง โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยร่วมฎีกาข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าเสียหาย เห็นว่าปัญหาดังกล่าว จำเลยร่วมมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยร่วมฎีกาข้อสุดท้ายว่า ตามใบอนุญาตขับขี่แสดงให้เห็นว่าใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วันก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.13.6 ซึ่งระบุเป็นความว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด อันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน ฯลฯ ในเวลาเกิดอุบัติเหตุ เห็นว่า แม้จะมีข้อ 2.13.6 การยกเว้นทั่วไป ระบุว่าการประกันภัยตามข้อ 2.1 ข้อ 2.2และข้อ 2.3 ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วันก็ตาม แต่ก็มีข้อ 2.14 ซึ่งเป็นข้อสัญญาพิเศษระบุว่า “ภายใต้จำนวนเงินจำกัดตามความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือข้อ 2.13 หรือเงื่อนไขทั่วไปเว้นแต่ข้อ 1.2เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 หรือข้อ2.2 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที” ดังนั้น จำเลยร่วมจะยกเอาเหตุที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยขาดต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์เกินกว่า 180 วัน มาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกตามข้อ 2.1 หาได้ไม่ ได้แต่ยกขึ้นว่ากล่าวเอากับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย
พิพากษายืน

Share