คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4422/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้ฟ้องคดีแทน และระบุชื่อคู่ความว่า “นางดี พานิชเจริญ โดย บ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์” แต่ปรากฏในใบแต่งทนายความที่ยื่นพร้อมคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แต่งให้ ว. เป็นทนายความด้วยตนเองและ ว. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายฟ้อง โจทก์จึงเป็นผู้ฟ้องคดีเองมิได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแต่ประการใด คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้หรือไม่
ใบแต่งทนายความของโจทก์มีผู้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเพียงคนเดียวไม่เสมอกับลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง มีผลทำให้การแต่งตั้งทนายความของโจทก์ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ ทนายความผู้นั้นยังไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้องได้ เท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง และการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจทำได้หลายประการ เช่น ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้อง หรือในช่องผู้แต่งทนายความ ในใบแต่งทนายความหรือให้ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์จัดให้ผู้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือของโจทก์ในใบแต่งทนายความมาลงลายมือชื่อรับรอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่ความตายและมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ได้ รวมทั้งมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องของใบแต่งทนายความแทนโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายบุญสม พานิชเจริญ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 โอนกลับมาเป็นชื่อของโจทก์ หากไม่สามารถทำได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยพร้อมกับออกโฉนดใหม่ และพิพากษาว่าเงินตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวเป็นของโจทก์ และให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากคำขอเปิดบัญชี และสมุดเงินฝากดังกล่าวหากไม่สามารถทำได้ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ในการขอเปิดบัญชีและออกสมุดเงินฝากใหม่

จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางเชื้อ กลิ่นประเสริฐ พี่สาวของโจทก์ยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมานางเชื้อถึงแก่กรรมนายบุญสม พานิชเจริญ หลานของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยรับอนุญาตให้ดำเนินการอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นพิพาทข้อ 3 ถึง 5 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมบุญ พานิชเจริญ ฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายบุญสมเป็นผู้ฟ้องคดีแทน และระบุชื่อคู่ความว่า “นางดี พานิชเจริญ โดยนายบุญสม พานิชเจริญ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์” ก็ตามแต่ปรากฏในใบแต่งทนายความที่ยื่นพร้อมคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แต่งให้นายวีรวัฒน์ ศิริวงษ์ เป็นทนายความด้วยตนเอง และนายวีรวัฒน์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้อง ดังนั้นคดีนี้โจทก์จึงเป็นผู้ฟ้องคดีเอง มิได้มอบอำนาจให้นายบุญสมฟ้องคดีแต่ประการใด ดังนั้นแม้จำเลยทั้งสามจะให้การต่อสู้ว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ นายบุญสมจึงไม่มีอำนาจฟ้องก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย โจทก์มอบอำนาจให้นายบุญสมฟ้องคดีนี้หรือไม่อีกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ในใบแต่งทนายความของโจทก์ฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2538 มีผู้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเพียงคนเดียวย่อมไม่เสมอกับลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง มีผลทำให้การแต่งตั้งทนายความของโจทก์ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ ทนายความผู้นั้นยังไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้องได้เท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18วรรคสอง และการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจทำได้หลายประการเช่น ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้อง หรือในช่องผู้แต่งทนายความในใบแต่งทนายความ หรือให้ผู้มีอำนาจทำการแทน โจทก์จัดให้ผู้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือของโจทก์ในใบแต่งทนายความมาลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าว คดีนี้โจทก์ถึงแก่ความตายและมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ได้รวมทั้งมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องของใบแต่งทนายความแทนโจทก์ด้วย จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้ววินิจฉัยประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไป”

พิพากษายืน

Share