คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 112 ตรี มีได้เฉพาะ 2 กรณี คือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ อย่างหนึ่ง กับกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดตามมาตรา 40 อีกอย่างหนึ่ง คดีนี้แม้จะปรากฏว่าจำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิต สินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อ โจทก์ที่ 1 และจำเลยมิได้นำสินค้าที่นำเข้านี้ไปผลิตเพื่อ ส่งออกให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายใน 1 ปีก็ตาม แต่เนื่องจาก พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เห็นว่าจำเลย สำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมิน ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลย ยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติ ผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของ กรมศุลกากร ตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บ เงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 มาตรา 5 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 และภาษีการค้าในหมวด 4ของลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี และพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 112 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาทให้ตัดทิ้ง” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่อง ที่ยกเว้นภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการ คำนวณในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำเงินค่าภาษีทั้งหมด มาชำระ เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้นำเงินค่าภาษีมาชำระ หรือชำระไม่ครบถ้วน การคำนวณภาษีดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุด การที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยให้ตัดเศษของบาทจากการคำนวณ ภาษีจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่12 พฤษภาคม 2530 จำเลยได้นำสินค้าผ้าซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรทางเรือ จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าจำนวน 16 ฉบับ โดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าและจะขอคืนอากรภายใน6 เดือน นับแต่วันส่งออกตามความในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1สั่งให้จำเลยวางประกันค่าภาษีอากรสำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวทั้ง 16 ฉบับ จำเลยได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร และโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยไป ต่อมาจำเลยไม่ได้นำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวไปใช้ในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปต่างประเทศให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบมีวัตถุดิบคงเหลือตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวบางส่วนทั้ง 16 ฉบับ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอรับคืนเงินอากรขาเข้าและมีหน้าที่จะต้องชำระค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าดังกล่าวด้วยและได้ตรวจพบว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าว ส่วนใหญ่ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด จึงได้ทำการประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรดังกล่าวให้ถูกต้องตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 ธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระค่าภาษีอากรตามวงเงินที่ค้ำประกัน ซึ่งเมื่อนำมาหักออกแล้ว จำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรเป็นเงิน 8,067,823.30 บาท และจำเลยต้องรับผิดเกี่ยวกับเงินเพิ่มอากรขาเข้า เงินเพิ่มภาษีการค้าเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล ตามความในมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรตามลำดับ อีกทั้งต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามความในมาตรา 112 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่ม เมื่อไม่ชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินอากรโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยและไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีอากร ขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับ รวมเงินเพิ่มทุกประเภทภาษีจำนวน 9,979,857.91 บาท และเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้าในอัตรารายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีจำนวนมาก จำเลยไม่สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปต่างประเทศให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า จึงมีสินค้าคงเหลือตามคำฟ้องโจทก์ ส่วนราคาตามที่ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับ เป็นราคาที่เหมาะสมแล้วการที่จำเลยไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศภายในกำหนด คงเสียสิทธิในการขอรับคืนอากรขาเข้าเท่านั้น และเมื่อธนาคารได้ชำระค่าภาษีอากรตามวงเงินที่ค้ำประกันไว้แล้ว ภาระในการชำระค่าภาษีต่อโจทก์จึงสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะนำคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 มาเป็นเกณฑ์คำนวณราคาสินค้าให้สูงขึ้น และเรียกเก็บภาษีอากร เงินเพิ่มภาษีอากรตามฟ้องแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีสิทธิจะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้า เงินเพิ่มภาษีการค้าและเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลตามมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กับเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ในอัตราร้อยละ 20 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน9,113,185.48 บาท และเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้านับแต่วันที่10 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2529 คือวันที่12 พฤษภาคม 2530 จำเลยได้นำสินค้าผ้าซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรทางเรือตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าจำนวน 16 ฉบับ และจำเลยสำแดงความจำนงว่าสินค้าที่นำเข้ามาเป็นสินค้าที่จำเลยนำมาใช้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อส่งออกไปต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าและจะขอคืนอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งออกตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482โดยจำเลยได้ใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารวางไว้ต่อโจทก์ที่ 1แทนการชำระค่าภาษีอากรที่จะต้องเสียแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยไป หลังจากนั้นจำเลยไม่สามารถนำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวไปใช้ในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปออกไปต่างประเทศให้สำเร็จได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า จึงมีสินค้าคงเหลือตามคำฟ้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ ปรากฏว่าราคาสินค้าส่วนใหญ่ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงได้ประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรเพิ่มต่อมาธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยแล้ว แต่ยังไม่คุ้มกับจำนวนค่าภาษีอากรที่ประเมินไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงได้ทวงถามจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระภายใน 30 วัน
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรีหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่กองคืนอากรของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าจำเลยไม่นำสินค้าที่นำเข้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าจึงส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงทำการประเมินราคาสินค้าใหม่และแจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระภายในกำหนด จึงเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ20 ตามมาตรา 112 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469รวมเป็นเงิน 866,651.85 บาท เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี ประกอบมาตรา 40 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ และมาตรา 19 ตรีบัญญัติถึงเรื่องการที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20ตามมาตรา 112 ตรี นั้นว่ามีได้เฉพาะ 2 กรณี คือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ อย่างหนึ่ง กับกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดตามมาตรา 40 อีกอย่างหนึ่ง คดีนี้แม้จะปรากฏว่า จำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าโดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยมิได้นำสินค้าที่นำเข้านี้ไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นครบถ้วนภายใน1 ปี ก็ตาม แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1เห็นว่าจำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรีได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปมีว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยตัดเศษของบาทจากการคำนวณภาษีชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 มาตรา 5บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ในหมวด 3 และภาษีการค้าในหมวด 4 ของลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษี” และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 112 วรรคสองบัญญัติว่า “ในการเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้เศษของหนึ่งบาทให้ตัดทิ้ง” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยกเว้นภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำเงินค่าภาษีทั้งหมดมาชำระ เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้นำเงินค่าภาษีมาชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน การคำนวณภาษีดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุด การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้ตัดเศษของบาทจากการคำนวณภาษีตามที่ปรากฏในรายละเอียดการคำนวณเงินเพิ่มภาษีอากร เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 38ถึง 64 จึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน9,979,857.91 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share