คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าข้อ 3 กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้า ภายในวันที่ 25 ของเดือน และยังมีข้อตกลงให้โจทก์เสียค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของอัตราค่าเช่าเวลา1 เดือน ตามสัญญาข้อ 10 อีกด้วย การกำหนดค่าปรับรายวันข้างต้นถือเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสีย ของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 โจทก์ค้างชำระค่าเช่าระหว่างเดือนสิงหาคม 2532ถึงวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 มกราคม 2533 เป็นเงินจำนวน21,987,855.76 บาท ซึ่งจำเลยคิดค่าปรับตามสัญญาถึงวันที่14 มกราคม 2533 เป็นเงิน 1,852,413.67 บาท แต่ถ้าคิดค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของอัตราค่าเช่าเวลา 1 เดือนเป็นต้น ค่าปรับของค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532 ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2533 รวม 87 วันวันละ 4,400.35 บาท โดยค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532คิดเป็นเงิน 4,400,353.12 บาท ซึ่งถ้าคิดคำนวณเป็นร้อยละแล้วจะเกินกว่าอัตราร้อยละ 36 ต่อปี และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดให้คิดสำหรับหนี้เงินระหว่าง เวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี เว้นแต่จะพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นได้มากกว่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383แล้ว ถือได้ว่า การกำหนดเบี้ยปรับรายนี้สูงเกินส่วน สมควรลดเบี้ยปรับลงโดยให้คิดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน21,987,855.76 บาท กับดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดทวงถามจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 493,345.21 บาท และค่าเสียหายจำนวน 12,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 34,481,200.97 บาท จำนวนหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน แก่จำเลยจำนวน 34,481,200.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยนำเงินดอกเบี้ยจำนวน 493,345.21 บาท มารวมเข้าเป็นต้นเงิน 34,481,200.97 บาท แล้วให้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวทั้งจำนวน โดยมิได้หักเงิน ดอกเบี้ยจำนวน 493,345.21 บาท ออกเสียก่อน กรณีเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 175,444,074.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับตามฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงิน 93,156,783.93 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของค่าเช่าที่ค้างจำนวน 21,987,855.76 บาท และค่าปรับจำนวน 1,852,413.67 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 34,481,200.90บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย กับให้โจทก์ชำระค่าปรับอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532 จำนวน 4,400,353.12 บาท เป็นเวลา 87 วัน เดือนกันยายน 2532 จำนวน 4,455,478.12 บาท เป็นเวลา 87 วัน เดือนตุลาคม 2532 จำนวน 4,660,818.75 บาท เป็นเวลา 87 วัน เดือนพฤศจิกายน 2532 จำนวน 4,291,481.25 บาท เป็นเวลา 81 วัน เดือนธันวาคม 2532 จำนวน 4,656,684.35 บาท เป็นเวลา 51 วัน และเดือนมกราคม 2533 จำนวน 4,568,480 บาท เป็นเวลา 20 วัน แก่จำเลยคำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 34,481,200.97บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดจากต้นเงิน33,987,855.76 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าปรับที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยประกาศประกวดคัดเลือกผู้เช่าเวลาทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดคัดเลือกข้างต้นโจทก์กับจำเลยจึงทำสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณาสินค้าทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยของจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2531 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2534 ตามเอกสารหมาย ล.4 ต่อมาโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าตรงตามกำหนดในสัญญาและไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โดยกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าเวลาที่ค้างชำระและค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา กับค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญารายนี้ตามเอกสารหมาย ล.15 ซึ่งโจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 ตามเอกสารหมาย ล.15
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่ากรณีโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดเวลา โจทก์จะต้องเสียค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของอัตราค่าเช่าเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระจนถึงวันที่นำค่าเช่าเวลามาชำระครบถ้วนตามที่ตกลงในข้อ 10 ของสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.4 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าข้อ 3 กำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าภายในวันที่ 25 ของเดือนและยังมีข้อตกลงให้โจทก์เสียค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1ของอัตราค่าเช่าเวลา 1 เดือน ตามสัญญาข้อ 10 ดังกล่าวอีกด้วยการกำหนดค่าปรับรายวันข้างต้นถือเป็นข้อตกลงในเรื่องค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 383แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้โจทก์ค้างชำระค่าเช่าระหว่างเดือนสิงหาคม 2532 ถึงวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 มกราคม 2533เป็นเงินจำนวน 21,987,855.76 บาท ซึ่งจำเลยคิดค่าปรับตามสัญญาถึงวันที่ 14 มกราคม 2533 เป็นเงิน 1,852,413.67 บาท แต่ถ้าคิดค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของอัตราค่าเช่าเวลา 1 เดือนเป็นต้น ค่าปรับของค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532 ตั้งแต่วันที่ 20ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2533 รวม 87 วัน วันละ 4,400.35 บาท โดยค่าเช่าเวลาเดือนสิงหาคม 2532 คิดเป็นเงิน 4,400,353.12 บาทซึ่งถ้าคิดคำนวณเป็นร้อยละแล้วจะเกินกว่าอัตราร้อยละ 36 ต่อปี และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดให้คิดสำหรับหนี้เงินระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี เว้นแต่จะพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นได้มากกว่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว เห็นว่า การกำหนดเบี้ยปรับรายนี้สูงเกินส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลดเบี้ยปรับลง โดยให้คิดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับว่าเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว
ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ให้นำดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างชำระนับแต่วันครบกำหนดทวงถามจนถึงวันฟ้องแย้งจำนวน 493,345.21 บาท รวมเป็นต้นเงินด้วยนั้นไม่ถูกต้องเพราะคู่ความมิได้อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 21,987,855.76 บาท กับดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดทวงถามจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 493,345.21 บาท และค่าเสียหายจำนวน 12,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 34,481,200.97 บาท จำนวนหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 34,481,200.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จจำนวนหนึ่ง จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าศาลชั้นต้นพิพากษาโดยนำเงินดอกเบี้ยจำนวน 493,345.21 บาท มารวมเข้าเป็นต้นเงิน 34,481,200.97 บาทแล้วให้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวทั้งจำนวนโดยมิได้หักเงินดอกเบี้ยจำนวน 493,345.21 บาท ออกเสียก่อน กรณีเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้
พิพากษายืน

Share