คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดดังที่จำเลยอ้าง และการที่โจทก์ไม่สนใจศึกษางานนั้นก็มิใช่ข้อสำคัญที่จะถือเป็นความผิด การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็น การ เลิกจ้าง โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายจากการที่โจทก์ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงินจำนวนหนึ่งให้โจทก์ การที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกากำหนดจำนวนค่าเสียหายให้โจทก์เพิ่มขึ้นทั้งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการเรียกร้องภายหลังโจทก์ถูกเลิกจ้างไปแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณีจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในอนาคต ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอีก ดังนี้อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นการ โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานในการกำหนดค่าเสียหายเป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าไม่สามารถหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากการเลิกจ้างไม่ใช่เป็นเพราะความผิดของโจทก์และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 17,475,479 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 17,153,845 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน300,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 193,206 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ไต้หวัน จำเลยประกอบธุรกิจการบิน จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2531 ในตำแหน่งพนักงานการโดยสารประจำฝ่ายสนามบิน ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการโดยสารได้รับค่าจ้างเดือนละ 32,201 บาทก่อนถูกเลิกจ้างประมาณ 5 เดือน จำเลยย้ายโจทก์เข้ามาช่วยงานที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยในเมือง เพราะโจทก์มีปัญหาขัดแย้งกับนายองอาจ เดชอิทธิรัตน์ ผู้บังคับบัญชา จำเลยให้โจทก์ทดลองทำงานว่ามีแผนกใดเหมาะสมกับโจทก์บ้าง โจทก์ไปทำงานที่แผนกขาย ไปช่วยงานฝ่ายเลขาของนายเนลสัน ฟาง และครั้งสุดท้ายไปช่วยงานฝ่ายบุคคล ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2539จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุผลว่าเนื่องจากไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้โจทก์ได้ โดยจะให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยเป็นเวลา6 เดือน บวกกับเงินชดเชยวันหยุดประจำปีอีก 9 วันครึ่งและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เสียก่อน และเห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยไม่ได้จงใจทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ไปเป็นเวลา 3 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และกรณีโจทก์ไม่สนใจศึกษางานนั้นก็มิใช่ข้อสำคัญที่จะถือเป็นความผิดเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่จำเลยอ้างว่าเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ขัดแย้งกับนายองอาจจนนายองอาจไม่ยอมรับให้โจทก์ทำงานร่วมด้วยนั้นมิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะยกขึ้นเพื่อเลิกจ้างแต่อย่างใด
ส่วนอุทธรณ์โจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายในอนาคตที่ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดให้โจทก์รวม 7 ข้อนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการที่โจทก์ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 300,000 บาท ให้โจทก์ อุทธรณ์โจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายทั้ง 7 ข้อเป็นการอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกากำหนดจำนวนค่าเสียหายให้โจทก์เพิ่มขึ้น ทั้งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการเรียกร้องภายหลังโจทก์ถูกเลิกจ้างไปแล้ว ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มิใช่เป็นค่าเสียหายในอนาคตซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอีกแต่อย่างใด อุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการกำหนดค่าเสียหาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share