คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4412/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทบางส่วนโดยอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจาก ซ. เป็นการรับโอนแทนมารดาโจทก์บางส่วน ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนการที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินก็เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่แสดงในเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินนั้นดีกว่าคนอื่นเท่านั้น มิใช่การทำนิติกรรมแต่อย่างใด โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลตามข้ออ้างของตนได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การเป็นตัวการตัวแทนไม่ทำให้สิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่พิพาทแทนมารดาโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปด้วยความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อมารดาโจทก์ตาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมใช้สิทธิเรียกร้องนั้นได้ในฐานะผู้รับมรดก การนำสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
เมื่อ ย. มารดาโจทก์ตายทรัพย์สินของ ย. ย่อมเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท ทายาททุกคนของ ย. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินของ ย. หากทรัพย์สินอันเป็นมรดกไปอยู่กับผู้ไม่มีสิทธิทายาทคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ในนามของตนเองทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบ มาตรา 1359 แต่ในระหว่างทายาทด้วยกันใครจะได้รับทรัพย์มรดกเท่าใดเป็นเรื่องภายในหมู่ทายาทกันเอง ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างตัดสิทธิเรียกทรัพย์มรดกคืนเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2533 ให้แก่โจทก์และพี่น้องครึ่งหนึ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 4831 ให้แก่โจทก์และพี่น้องครึ่งหนึ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 2 งาน หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้ ให้ชดใช้ราคาที่ดินตามราคาที่ดินปัจจุบันเป็นเงิน 20,150,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2533 จำนวน 25 ไร่ และจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4831 เนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่โจทก์และทายาทของนางเบาะ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยแบ่งแยกให้ไม่ได้ให้ชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 6,000,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยและมารดาโจทก์เป็นบุตรนายโซ๊ะ และนางเนาะห์ หลังจากนางเนาะห์เสียชีวิตนายโซ๊ะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยโดยทำเป็นนิติกรรมการให้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยว่า นายโซ๊ะได้จดทะเบียนโอนชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ตามสารบัญการจดทะเบียนในสำเนาโฉนด เป็นการให้ ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานมาแสดง การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำพยานบุคคลมาวินิจฉัยว่าการรับให้ของจำเลยเป็นการรับให้แทนมารดาโจทก์ด้วยส่วนหนึ่ง จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพิ่มเติมเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ทั้งการนำสืบพยานบุคคลของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 94 วรรคท้าย แต่อย่างใด และการนำสืบพยานบุคคลก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการนำสืบถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทน เพราะระหว่างโจทก์จำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์เป็นตัวการตัวแทนกัน หากจะเป็นได้ก็แต่เฉพาะจำเลยกับมารดาโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับมารดาโจทก์ในโฉนดที่ดินพิพาทในฐานะตัวการตัวแทนการนำสืบดังกล่าวของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เช่นกันนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทบางส่วนเหนือจำเลยโดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักว่าการที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากนายโซ๊ะนั้นเป็นการรับโดยแทนมารดาโจทก์บางส่วนด้วย กิจการดังกล่าวนี้ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินนั้น เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่แสดงได้ในเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินนั้นดีกว่าคนอื่น กิจการนี้มิใช่การทำนิติกรรมแต่อย่างใด โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลตามข้ออ้างของตนได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และการเป็นตัวการตัวแทนนั้นไม่ทำให้สิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นแต่การนี้ระงับสิ้นไปด้วยความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมใช้สิทธิเรียกร้องนั้นได้ในฐานะผู้รับมรดก การนำสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงถึงการมีสิทธิเรียกร้องของโจทก์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 เช่นกัน
จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายต่อมาว่า โจทก์ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวมิได้ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก และมิได้ฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากทายาทคนอื่น จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปแบ่งปันแก่ทายาทคนอื่น เมื่อนางเยาะ มารดาโจทก์มีบุตรรวม 5 คน ดังนั้น หากโจทก์มีสิทธิรับมรดกก็ชอบที่จะรับได้เพียง 1 ใน 5 ส่วนของทรัพย์มรดกไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องที่ดินที่อ้างว่าเป็นของนางเยาะทั้งหมด เห็นว่า เมื่อนางเยาะตายทรัพย์สินของนางเยาะย่อมเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท ดังนั้นทายาททุกคนของนางเยาะจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิรวมในทรัพย์สินของนางเยาะ หากทรัพย์สินอันเป็นมรดกไปอยู่กับผู้ไม่มีสิทธิทายาทคนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ในนามของตนเองทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1359 แต่ในระหว่างทายาทด้วยกันใครจะได้รับทรัพย์มรดกเท่าใดเป็นเรื่องภายในหมู่ทายาทต้องไปว่ากันเอง ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างตัดสิทธิเรียกทรัพย์มรดกคืน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

Share