คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายจำนวน 50,000 บาท แต่ผู้เสียหายไม่มีเงินจึงขอให้สร้อยข้อมือกับสร้อยคอทองคำแทนแม้จำเลยที่ 1 จะไม่รับทองคำ แต่มีการควบคุมตัวผู้เสียหายกับพวกไปร้านอาหารแห่งหนึ่ง และต่อมาได้ปล่อยตัวผู้เสียหายไปเพื่อให้ไปขายทองคำและหาเงินมาให้ โดยควบคุมตัวสามีและบุตรของผู้เสียหายไว้ ถือได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้เงินแก่จำเลยทั้งสองตามที่เรียกร้องแล้ว แต่ในขณะนั้นผู้เสียหายไม่มีเงินจึงยินยอมให้สร้อยข้อมือกับสร้อยคอทองคำแทน แม้จำเลยทั้งสองไม่รับก็ครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337, 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83วางโทษจำคุกคนละ 5 ปี

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 เวลา ประมาณ 15 นาฬิกาผู้เสียหาย นายอำนาจสามี และเด็กหญิงพรทิพาบุตร อายุ 1 ปีเศษได้เดินทางไปหาเพื่อนชื่ออ้อมที่วัดบางประทุนนอกแต่ไม่พบผู้เสียหายกับพวกได้พากันมานั่งที่ศาลาริมน้ำในวัด ขณะนั้นเวลาประมาณ15.30 นาฬิกา จำเลยทั้งสองและชายอีกสองคนเดินมาหาผู้เสียหายจำเลยที่ 1 อ้างว่าสามีของผู้เสียหายมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 ค้นตัวสามีของผู้เสียหายแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ตรวจค้นที่ต้นไม้ข้างศาลาไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย จำเลยที่ 1 บอกว่าเมื่อของไม่อยู่ที่ตัวผู้ชายก็ต้องอยู่ที่ตัวผู้หญิง ถ้าหากผู้เสียหายบริสุทธิ์ก็ให้ขึ้นรถไปกับจำเลยทั้งสองไปที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้พาผู้เสียหายกับพวกขึ้นรถยนต์กระบะซึ่งมีพวกของจำเลยอีก 1 คน เป็นคนขับ ผู้เสียหายกับพวกนั่งด้านหลังของรถยนต์กระบะโดยมีจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้วย จำเลยที่ 2 นั่งด้านหน้า คนขับได้ขับรถไปทางบางบอนมุ่งหน้าถนนเอกชัย ในระหว่างอยู่บนรถจำเลยที่ 1 ได้พูดกับผู้เสียหายว่า ถ้ามีของให้เอาออกมา ถ้าไม่เอาออกมาจะให้ผู้หญิงเป็นคนค้น ซึ่งจะต้องพบของกลางอยู่ดี ผู้เสียหายจึงควักเอาเมทแอมเฟตามีนซึ่งบรรจุในถุงพลาสติกจำนวน 195 เม็ดที่ซ่อนอยู่ในเสื้อชั้นในออกมาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับแล้วพูดว่ารู้หรือไม่ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน ผู้เสียหายว่ารู้ จะให้ผู้เสียหายทำอย่างไรจำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายหาเงินให้จำนวน 50,000 บาท ผู้เสียหายว่าไม่มีเงินมีแต่ทองคำ ขณะนั้นผู้เสียหายสวมสร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำอย่างละ 1 เส้น จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่ต้องการทองคำแต่ต้องการเงิน 50,000 บาท รถได้แล่นมาถึงร้านอาหารสวนข่อย จำเลยกับพวกได้จอดรถลงจากรถเข้าไปในร้านอาหารสั่งเบียร์และสุรามานั่งรับประทานอาหาร ผู้เสียหายได้บอกจำเลยทั้งสองว่าผู้เสียหายต้องการที่จะเข้าห้องน้ำจำเลยที่ 2 บอกว่าต้องตามไปคุมผู้เสียหายด้วย เพราะเกรงว่าผู้เสียหายจะหลบหนี ขณะนั้นสามีของผู้เสียหายคงนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารกับพวกจำเลยทั้งสอง ส่วนผู้เสียหายเข้าห้องน้ำโดยมีจำเลยทั้งสองคุมอยู่ที่หน้าห้องน้ำ หลังจากผู้เสียหายเข้าห้องน้ำแล้วเดินออกมาสมทบกับสามีของผู้เสียหายโดยมีจำเลยทั้งสองเดินตามมา จำเลยที่ 1 พูดกับผู้เสียหายว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน ให้ไปขายทองคำที่มีอยู่และหาเงินมาจนครบจำนวน50,000 บาท โดยจะปล่อยผู้เสียหายไปแต่จะต้องกักเอาตัวสามีและบุตรสาวของผู้เสียหายไว้ ผู้เสียหายคงยืนยันว่าผู้เสียหายไม่มีเงินจำเลยที่ 1 บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องควบคุมตัวไปสถานีตำรวจ ผู้เสียหายจึงกลับมาที่อพาร์ตเมนต์และไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จึงไปหานายโด่งน้องชายสามีผู้เสียหายซึ่งพักอยู่ที่แฟลตแห่งหนึ่งใกล้กับอพาร์ตเมนต์ของผู้เสียหาย และได้เล่าเหตุการณ์ให้นายโด่งฟัง โดยบอกว่าสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกับพวกอาจจะไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจที่แท้จริงเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้พาผู้เสียหายกับพวกไปนั่งดื่มสุรา นายโด่งให้ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้เสียหายไปที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนและได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เจ้าพนักงานตำรวจฟังเจ้าพนักงานตำรวจนอกเครื่องแบบประจำสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนประมาณ 5 ถึง 6 นาย พร้อมด้วยผู้เสียหายได้เดินทางไปที่ร้านอาหารสวนข่อยเมื่อไปถึงพบจำเลยทั้งสองนั่งอยู่ที่โต๊ะกับสามีและบุตรของผู้เสียหาย แต่ไม่พบพวกจำเลยอีก 3 คน ผู้เสียหายเดินเข้าไปในร้านอาหารและมอบสร้อยข้อมือกับสร้อยคอทองคำให้จำเลยที่ 1 ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบอก โดยบอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายหาเงินไม่ได้มีแต่ทองคำเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับทองคำจากผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองลุกขึ้นจากเก้าอี้ ทันใดนั้นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งซุ่มอยู่ที่หน้าร้านก็เข้ามาจับกุมจำเลยทั้งสอง เห็นว่า แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกเงินจำนวน 50,000 บาท จากผู้เสียหายก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจดับเพลิงซึ่งมิได้มีตำแหน่งหน้าที่ในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกทั้งการกระทำของผู้เสียหายในขณะนั้นมิใช่ความผิด ซึ่งหน้าที่จำเลยทั้งสองพบเห็นการกระทำผิดของผู้เสียหาย เนื่องจากจำเลยทั้งสองเพียงแต่ทราบว่ามีผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจากร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ หรุ่นรอด ซึ่งก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจดับเพลิงเช่นเดียวกับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ที่ให้ไปจับกุมผู้จำหน่ายยาเสพติดจำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่ประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่เกิดเหตุให้ทำการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิดเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองดำเนินการติดตามผู้แจ้งไปยังที่ผู้เสียหายอยู่ โดยที่ผู้เสียหายและพวกยังไม่มีพฤติการณ์กระทำผิดตามที่รับแจ้ง และจำเลยทั้งสองได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน ตำรวจขอทำการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น จึงเป็นการกระทำที่มิชอบเมื่อทำการตรวจค้นตัวสามีของผู้เสียหายแล้ว ไม่พบการกระทำผิดยังควบคุมตัวผู้เสียหายกับพวกไปยังร้านอาหาร ครั้นพบว่าผู้เสียหายมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจำนวน 195 เม็ด ในเวลาต่อมา จำเลยทั้งสองก็ยังมิได้นำตัวผู้เสียหายส่งสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุทันที จนผู้เสียหายไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนมาจับกุมจำเลยทั้งสองได้นั้น ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเรียกเงินจากผู้เสียหายจำนวน 50,000 บาท เพราะการที่ผู้เสียหายสามารถออกจากร้านอาหารไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวได้นั้นก็เนื่องจากจำเลยทั้งสองให้ผู้เสียหายไปขายทองคำและหาเงินมาให้จำเลยทั้งสองที่รอคอยผู้เสียหายอยู่ที่ร้านอาหารเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายหลบหนีตามที่จำเลยทั้งสองอ้าง ส่วนเหตุที่ผู้เสียหายแจ้งความนั้น ไม่มีข้อพิรุธว่าผู้เสียหายจะกล่าวปรักปรำจำเลยทั้งสองเพราะสาเหตุโกรธเคืองที่จำเลยทั้งสองได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเนื่องจากในขณะแจ้งความนั้นผู้เสียหายมิได้ถูกจำเลยทั้งสองควบคุมตัวอยู่ โอกาสที่ผู้เสียหายจะพ้นผิดจึงมีมาก การที่ผู้เสียหายไปแจ้งความดังกล่าวย่อมหมดโอกาสที่จะพ้นผิดในข้อหามียาเสพติดให้โทษเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง อีกทั้งผู้เสียหายก็เข้าใจว่าจำเลยทั้งสองมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจที่แท้จริง จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายแจ้งความเพราะแก้แค้นที่ถูกจำเลยทั้งสองจับกุม ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ขณะที่อยู่บนรถยนต์กระบะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 195 เม็ดจากผู้เสียหายแล้ว ได้เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายจำนวน50,000 บาท แต่ผู้เสียหายไม่มีเงินจึงขอให้สร้อยข้อมือกับสร้อยคอทองคำแทน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่รับทองคำดังกล่าว แต่มีการควบคุมตัวผู้เสียหายกับพวกไปร้านอาหารสวนข่อย และในเวลาต่อมาได้ปล่อยตัวผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปขายทองคำและหาเงินมาให้ โดยควบคุมตัวสามีและบุตรของผู้เสียหายไว้ ถือได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้เงินแก่จำเลยทั้งสองตามที่เรียกร้องแล้วแต่ในขณะนั้นผู้เสียหายไม่มีเงินจึงยินยอมให้สร้อยข้อมือกับสร้อยคอทองคำแทน แม้จำเลยทั้งสองไม่รับ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกทรัพย์แล้วการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดสำเร็จมิใช่ฐานพยายามกระทำผิดตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา ส่วนที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่ามิได้กระทำผิดและร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ หรุ่นรอด ได้ติดต่อประสานกับเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่เกิดเหตุแล้วนั้น ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ได้ติดต่อประสานกับเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใดอย่างไร จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองหนักเกินไปหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดนั้น มีเจตนาเพียงเพื่อการกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายโดยตรง มิใช่กระทำไปเพื่อจับกุมผู้เสียหายมาลงโทษ การที่ผู้เสียหายถูกจับกุมและถูกลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก็เป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้เสียหายไปแจ้งความจับกุมจำเลยทั้งสองในข้อหากรรโชกทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนร่วมให้ได้ตัวผู้กระทำผิดฐานมียาเสพติดให้โทษเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยทั้งสองเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”

พิพากษายืน

Share