แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศโดยติดต่อผ่านจำเลย เมื่อจำเลยได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยได้มอบใบตราส่งซึ่งระบุชัดว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งให้แก่โจทก์ ทั้งเมื่อโจทก์ชำระค่าระวางการขนส่งให้แก่จำเลย จำเลยก็ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์โดยระบุในใบเสร็จรับเงินว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง พฤติการณ์ดังกล่าวแม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือประทับตราของจำเลยในใบตราส่งก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งและได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศมิใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับของระวางเรือ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังตนเอง เมื่อผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ถึงเมืองปลายทาง จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการขนส่งไปยังเมืองท่าปลายทาง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งนั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของที่ได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้น แต่กรณีผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทาง หาใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหายไม่ จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวมาใช้บังคับได้
ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าเมื่อจำเลยสามารถจัดส่งสินค้าที่ตกค้างไปยังเมืองท่าปลายทางได้เสร็จเรียบร้อยจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการเป็นตัวแทน นายหน้าและขนส่งระหว่างประเทศ เมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2542 โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยขนส่งสินค้ารถยนต์สามล้อ (Motorized three wheeler) จากประเทศไทยไปยังเมืองท่าปลายทาง ประเทศตูนีเซีย จำเลยออกใบตราส่งของบริษัทนิวส์ ชิปปิ้งส์ เซอร์วิสเซส จำกัด โดยจำเลยว่าจ้างให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าไปอีกทอดหนึ่ง สินค้าได้ถูกขนส่งไปถึงเมืองดูไบประเทศสหรัฐอาหรับ จากนั้นไม่มีการขนส่งสินค้าไปถึงเมืองท่าปลายทาง โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยจัดการขนส่งสินค้าจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปยังประเทศตูนิเซีย และให้โจทก์ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายไปก่อน จำเลยได้ดำเนินการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งเรียบร้อยแล้วแต่จำเลยไม่ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไป ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ความเสียหายตามบันทึกข้อตกลงแก่โจทก์ เป็นเงิน477,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,071.18 บาท รวมเป็นค่าเสียหายจำนวน 494,541.18 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งคือบริษัทนิวส์ชิปปิ้งส์ เซอร์วิสเซส จำกัด ให้เป็นนายหน้าในการรับจองระวางเรือของบริษัทนิวส์ ชิปปิ้งส์เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขนส่ง จำเลยได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ลงลายมือชื่อในใบตราส่งแทนนายเรือของเรือลีลาภูมิ จำเลยไม่ได้ร่วมในการขนส่งช่วงหนึ่งช่วงใด จำเลยได้โอนเงินที่โจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยให้แก่บริษัทโอเซี่ยนนัส ชิปปิ้ง เอเจนซีส์ พีทีอี จำกัดแล้ว จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ทำสัญญารับขนของแทนบริษัทนิวส์ ชิปปิ้งส์ เซอร์วิสเซส จำกัด ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ หากจำเลยต้องรับผิดก็ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือกิโลกรัมละสามสิบบาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 477,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11เมษายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 17,071.18 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นเพียงนายหน้ารับจองระวางเรือ ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ขนส่งซึ่งทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ทั้งยังไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ในการที่โจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวนั้น โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยซึ่งจำเลยก็ได้ตกลงรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์ และเมื่อจำเลยได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยได้มอบใบตราส่งเอกสารหมายจ.5 ให้แก่โจทก์ โดยตามใบตราส่งดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลระบุชัดว่าจำเลยเป็นผู้ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง ทั้งเมื่อโจทก์ชำระค่าระวางการขนส่งจากเมืองท่าต้นทางไปยังเมืองท่าปลายทางจำนวน266,412.77 บาทให้แก่จำเลย จำเลยก็ได้ออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่โจทก์โดยระบุในใบเสร็จรับเงินว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง นอกจากนั้นตามหนังสือที่นายวิสิทธิ์ แสงวิทยานนท์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยมีไปถึงนายภิรมย์สัมมาเมตต์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการให้โจทก์ยอมออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายและค่าระวางการขนส่งจากเมืองดูไบไปยังเมืองปลายทางตูนิสเอกสารหมาย จ.14 นายวิสิทธิ์ก็ยอมรับว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง จากพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมา แม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือประทับตราของจำเลยในใบตราส่งที่ออกให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งและได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ หาใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับของระวางเรือดังที่จำเลยอ้างไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นก็ตาม และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ถึงเมืองปลายทาง แต่ปล่อยให้สินค้าไปตกค้างระหว่างทางที่เมืองท่าดูไบเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการที่สินค้าตกค้างที่เมืองท่าดูไบและค่าระวางการขนส่งจากเมืองท่าดูไบไปยังเมืองท่าปลายทางตูนิสรวมเป็นเงิน 477,470 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯพ.ศ. 2535 มาตรา 58 จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง สินค้าของโจทก์ที่ขนส่งเป็นรถยนต์สามล้อจำนวน 5 คัน เท่ากับ 5 หน่วยการขนส่ง ความรับผิดของจำเลยจึงไม่เกิน 50,000 บาท นั้นปัญหานี้แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนและเห็นว่า ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้นแต่กรณีนี้เป็นเรื่องผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทางตามสัญญา หาใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหายไม่ จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาใช้บังคับได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันด้วยว่าเมื่อจำเลยสามารถจัดการจัดส่งสินค้าที่ตกลงค้างอยู่ที่เมืองท่าดูไบไปยังเมืองท่าตูนิสได้เสร็จเรียบร้อยจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไปนั้น จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การแต่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน