แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกในวันที่ 18 เมษายน 2533 ขณะนั้นรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ได้ขายรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแก่โจทก์โจทก์จึงเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันที่เช่าซื้อนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ ฉะนั้น ขณะที่ทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกันอยู่ โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อก็ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันที่เช่าซื้ออันเป็นข้อที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ในระยะเวลาที่สัญญาเช่าซื้อกำลังดำเนินอยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ทั้งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 ระบุไว้ว่าในการทำสัญญาเช่าซื้อได้ทำตามคำเสนอของผู้เช่าซื้อโดยให้มีการลงทุนซื้อรถยนต์มาให้เช่าซื้อ ก็เป็นการแสดงอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ไปซื้อรถยนต์บรรทุกมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ ซึ่งในสัญญาระบุให้เงินดาวน์เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อต่างหากจากการชำระค่าเช่าซื้อ และเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้วโจทก์ก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกคันที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจให้โจทก์ไปซื้อรถยนต์มาให้เช่าซื้อและเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถคันดังกล่าวกับโจทก์ โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เช่าซื้อของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อจะอ้างว่า ขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่เช่าซื้อเพื่อปัดความรับผิดหาได้ไม่ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 – 6952 นนทบุรีกับโจทก์ในราคา 1,251,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงินเดือนละ 34,750 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 4 งวดแล้วไม่ชำระอีกเลย โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อและใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 656,736.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปีของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ซื้อรถยนต์คันที่เช่าซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีมอเตอร์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 แต่โจทก์ได้นำรถคันดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 เป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะซื้อมา โจทก์จึงมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง โจทก์ไม่อาจบังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกตามเอกสารหมาย จ.7 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 บัญญัติไว้ว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาที่เจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว” ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6952 นนทบุรี กันในวันที่ 18 เมษายน 2533 ขณะนั้นรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีมอเตอร์ และต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากเช่าซื้อกันเพียง 15 วัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีมอเตอร์ก็ได้ขายรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันที่เช่าซื้อนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยที่สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.7 ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ ละ 1 เดือน รวม 36 งวด หรือ 36 เดือนฉะนั้นขณะที่ทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกันอยู่ โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อก็ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันที่เช่าซื้ออันเป็นข้อที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ในระยะเวลาที่สัญญาเช่าซื้อกำลังดำเนินอยู่ ตามนัยมาตรา 572 ดังกล่าวข้างต้น ทั้งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 ก็ได้ระบุไว้ว่า ในการทำสัญญาเช่าซื้อได้ทำตามคำเสนอของผู้เช่าซื้อโดยให้มีการลงทุนซื้อรถยนต์นิสสันมาให้เช่าซื้อก็เป็นการแสดงอยู่ตามข้อสัญญาแล้วว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ไปซื้อรถยนต์บรรทุกมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ โดยในสัญญาระบุให้นำเงินดาวน์เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อต่างหากจากการชำระค่าเช่าซื้อและเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกคันที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ได้เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจให้โจทก์ไปซื้อรถยนต์มาให้เช่าซื้อและเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถคันดังกล่าวกับโจทก์ โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เช่าซื้อของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่เช่าซื้อเพื่อปัดความรับผิดหาได้ไม่ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกตามเอกสารหมาย จ.7 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะและเห็นว่าในเรื่องค่าเสื่อมราคาของรถและค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยไว้ สมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยไปในคราวเดียวกันไม่จำต้องส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาก่อน โดยเห็นว่าตามสัญญาข้อ 5.5 ของสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.7 ระบุว่า ถ้าราคาที่ขายทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อไม่พอชำระหนี้ต่าง ๆ ที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดตามสัญญานี้ ผู้เช่าซื้อยินยอมที่จะชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่อีกให้แก่เจ้าของจนครบนั้น มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ เนื่องจากราคาของรถคันที่เช่าซื้อเป็นการคิดราคารถรวมกับค่าเช่า และการใช้รถจะต้องมีการเสื่อมสภาพเสื่อมราคา จึงสมควรลดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด ฉะนั้นที่โจทก์กำหนดค่ารถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อหลังจากหักค่าเช่าซื้อและค่าประเมินราคาแล้วเหลือจำนวน 532,000 บาท นั้น เห็นควรลดลงมาเหลือจำนวน 362,000 บาท และคิดค่าขาดประโยชน์ให้วันละ 100 บาท โจทก์ขอมา 23 เดือน 23 วัน รวมเป็นค่าขาดประโยชน์ทั้งสิ้น 71,300 บาท เมื่อรวมราคาค่ารถที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จำนวน 362,000 บาท จึงเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 433,300 บาท จำเลยที่ 1 ได้นำสืบว่าหลังจากซื้อหัวรถจากโจทก์ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องนำไปต่อกระบะตัวถังรถ และไปติดตั้งเครื่องดั๊มต้องจ่ายเงินไปอีกประมาณ 200,000 บาท จึงเห็นสมควรนำเงินจำนวนนี้โดยหักค่าเสื่อมราคา 50,000 บาท ออกแล้วเหลือราคาค่าตัวถังและค่าดั๊มจำนวน150,000 บาท ไปหักออกจากจำนวนเงินค่ารถและค่าขาดประโยชน์ที่พิจารณาไว้ดังกล่าวข้างต้น จึงคงเป็นค่ารถและค่าเสียหายขาดประโยชน์ที่โจทก์พึงควรจะเรียกจากจำเลยที่ 1 จำนวน 283,300 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืน เห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้คืนได้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 5.4 โจทก์เรียกค่าติดตามยึดรถ จำนวน 2,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.15 จึงเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว เห็นควรกำหนดให้ตามขอ ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในกรณีผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ แต่เงินที่ศาลกำหนดให้เป็นค่าเสื่อมราคาของรถยนต์และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถมิใช่เงินที่กำหนดตามข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2535 ซึ่งเป็นวันยึดรถคืนมาจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างเป็นลูกหนี้ร่วม ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินโจทก์จำนวน 285,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม2535 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จ