คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4700/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกาย จำคุกจำเลยที่ 1 ะที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 1 ปี ฐานลักทรัพย์จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93(13) กึ่งหนึ่ง จำคุก 4 ปี 6 เดือน ฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้เพิ่มโทษฐานทำร้ายร่างกายหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็น จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93(13) เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 9 เดือน มีผลเท่ากับว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเกี่ยวกับโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 แต่ละฐานไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงในคดีหากฟังตามฎีกาจำเลย การกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายกับทำให้เสียทรัพย์เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ทั้งจำเลยไม่เห็นด้วยกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์และไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 โดยอ้างพฤติการณ์แห่งคดี เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๐, ๒๘๘, ๓๕๘, ๙๓ ริบเหล็กขูดชาฟท์และรถยนต์ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ ๓ และนับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากโทษในคดีของศาลมณฑลทหารบกที่ ๕ (ศาลจังหวัดสงขลา) ให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๙,๓๐๐ บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๓ รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเพื่อขอเพิ่มโทษและขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๓๓๕(๑)(๗), ๓๕๘, ๘๓ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อายุ ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ให้เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓(๑๓)ฐานทำร้ายร่างกาย ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗คนละ ๑ ปี จำคุกจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ คนละ ๖ เดือน ฐานร่วมกันลักทรัพย์จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๖ และที่ ๗ คนละ ๓ ปี จำคุกจำเลยที่ ๔ที่ ๕ คนละ ๑ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือนฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗คนละ ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ คนละ ๓ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๖ และที่ ๗ คนละ ๔ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๓มีกำหนด ๖ ปี จำคุกจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ คนละ ๒ ปี ๓ เดือน นับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ท.๕๕๑/๒๕๒๓ ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๕ (ศาลจังหวัดสงขลา) ริบมีดและเหล็กขูดชาฟท์ของกลาง ส่วนรถยนต์ของกลางคืนเจ้าของและให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๙,๓๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานทำร้ายร่างกายเพิ่มโทษจำเลยที่ ๓ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ เป็นจำคุกจำเลยที่ ๓มีกำหนด ๑ ปี ๔ เดือน ฐานทำให้เสียทรัพย์เพิ่มโทษจำเลยที่ ๓กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓(๑๓) เป็นจำคุกจำเลยที่ ๓มีกำหนด ๙ เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ ๓ ไว้๖ ปี ๗ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกายจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ คนละ ๑ ปี ลงโทษฐานลักทรัพย์จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๖ และที่ ๗ คนละ ๓ ปี ส่วนจำเลยที่ ๓ เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓(๑๓) กึ่งหนึ่ง จำคุก ๔ ปี ๖ เดือนลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗คนละ ๖ เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ ๓ ให้เพิ่มโทษฐานทำร้ายร่างกายหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ เป็นจำคุกจำเลยที่ ๓ ในฐานนี้ ๑ ปี ๔ เดือน และเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓(๑๓) เป็นจำคุกจำเลยที่ ๓ ในฐานนี้ ๙ เดือน มีผลเท่ากับว่า เฉพาะจำเลยที่ ๑ที่ ๖ และที่ ๗ ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ ๓นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเกี่ยวกับโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ แต่ละฐานไม่เกิน ๕ ปีคดีนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก จำเลยที่ ๑ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗ ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้หากฟังตามฎีกาจำเลย การกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายกับทำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ทั้งจำเลยไม่เห็นด้วยกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ และไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษจำเลยที่ ๓โดยอ้างพฤติการณ์แห่งคดี เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๖ และที่ ๗.

Share