แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ (ผู้ขับรถ) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงให้ปรากฏข้างหน้านั้น แม้ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้ประจำรถ (ผู้ขับรถ) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นความผิด กระทงหนักที่สุดจะมีโทษจำคุกด้วย แต่ก็มิได้ให้อำนาจ พนักงานสอบสวนที่จะกักรถของโจทก์ไว้ได้ หากจำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนกักรถของโจทก์ไว้และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับ ความเสียหาย โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่า เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจมีความผิดตาม บทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะประทับฟ้อง ไว้พิจารณาต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำสุกร 47 ตัว บรรทุกรถยนต์เดินทางจากอำเภอวังสะพุงเพื่อนำไปขายที่กรุงเทพมหานคร จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาโจทก์ว่า ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ (ผู้ขับรถ) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏข้างหน้า แล้วจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ยึดและกักรถและสุกรของโจทก์ไว้เป็นเวลา 14 ชั่วโมง เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย สุกรตายไป 8 ตัว และสุกรที่เหลือน้ำหนักลดลงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ในครั้งนี้ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1090/2525 ของศาลจังหวัดเลย ว่าโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ (ผู้ขับรถ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และไม่ปฏิบัติตามสัญญาจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ปรากฏข้างหน้า คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ลงโทษทั้งสองกระทง ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดของโจทก์ทั้งสองกระทงดังกล่าวแม้ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนซึ่งเป็นความผิดกระทงหนักที่สุดจะมีโทษจำคุกด้วย แต่ก็มิได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะกักรถของโจทก์ไว้ หากจำเลยกักรถของโจทก์ไว้และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง คดีของโจทก์จึงมีมูล
พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป