คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาอ้างว่า คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ไม่ปรากฎชัดแจ้งว่า จำเลยนี้เล่นการพนันป๊อกกันในลักษระใด อย่างไรนั้นเป็นข้ออ้างเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ผู้ใดเป็นเจ้ามือในการเล่นพนันป๊อก แต่ได้บรรยายมาว่าจำเลยทั้ง 3 บังอาจร่วมกันเล่นการพนันป๊อก(21 แต้ม) อันเป็นการพนันประเภทห้ามขาดตามบัญชี ก.อันดับ 11 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน 2478 พนันเอาทรัพย์สินกันโดยมิได้มีพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้เล่นได้ ดังนี้ ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)
จำเลยกระทำผิดครั้งหลังมีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องวางโทษทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน 2478 มาตรา 14 ทวิ(2) แต่ศาลชั้นต้นวางโทษปรับทวีคูณ ปรับ 600 บาท จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุก 2 เดือน ปรับ 600 บาท แต่ยกโทษจำคุกเสีย ก็เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๓ ร่วมกันเล่นการพนันป๊อก(๒๑ แต้ม) อันเป็นประเภทห้ามขาดตามบัญชี ก.อันดับ ๑๑ ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน ๒๔๗๘ ขอให้ลงโทษ ขอเพิ่มโทษเฉพาะจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้ง ๓ ปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๒ รับว่าเคยต้องคำพิพากษาในความผิดฐานเล่นการพนันมาแล้วพ้นโทษไปยังไม่ครบกำหนด ๓ ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ผิดพระราชบัญญัติการพนัน ๒๔๗๘ มาตรา ๔,๕, ๖, ๑๐, ๑๒ จำเลยที่ ๒ ผิดพระราชบัญญัติการพนัน ๒๔๗๘ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๑๐, ๑๒ พระราชบัญญัติการพนัน(ฉบับที่ ๓) ๒๔๘๕ มาตรา ๓ ปรับจำเลยที่ ๑ และ ๓ คนละ ๓๐๐ บาท ปรับจำเลยที่ ๒ ทวีคูณ ๖๐๐ บาท
จำเลยทั้ง ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ กระทำความผิดครั้งหลังมีโทษให้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องวางโทษจำเลยที่ ๒ ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา ๑๔ ทวิ (๒) ไม่ใช่วางโทษปรับทวีคูณดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้ง ๓ ผิด พระราชบัญญัติการพนัน ๒๔๗๘ มาตรา ๑๒ แก้ไข (ฉบับที่ ๗) ๒๕๐๔ มาตรา ๓ เฉพาะการวางโทษจำเลยที่ ๒ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ กำหนด ๒ เดือน และปรับ ๖๐๐ บาท โทษจำคุกให้ยกเสียตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๕ คงปรับสถานเดียว นอกนั้นยืน
จำเลยทั้ง ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงในการพิจารณากับในฟ้องไม่ต่างกันเลยและข้อที่จำเลยอ้างว่า คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยนี้เล่นการพนักป๊อกกันในลักษณะใด อย่างไร นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาไม่ได้
และเห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่า ผู้ใดเป็นเจ้ามือในการเล่นพนันป๊อกก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องแล้วว่า จำเลยทั้ง ๓ ได้บังอาจร่วมกันเล่นการพนันป๊อก(๒๑ แต้ม) อันเป็นการพนันประเภทห้ามขาดตามบัญชี ก. อันดับ ๑๑ ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน ๒๔๗๘ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยมิได้มีพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้เล่นได้ ถือได้ว่า ฟ้องโจทก์มีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าจะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว โจทก์ไม่จำต้องบรรยายด้วยว่า ผู้ใดเป็นเจ้ามือในการเล่นพนันป๊อก ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘(๕)
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ กระทำผิดครั้งหลังมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องวางโทษจำเลยที่ ๒ ทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน ๒๔๗๘ มาตรา ๑๔ ทิว (๒) ไม่ใช่วางโทษปรับทวีคูณดังคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้วางโทษจำเลยที่ ๒ เป็นจำคุก ๒ เดือนและปรับ ๖๐๐ บาท แม้จะยกโทษจำคุกเสีย ก็เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๒ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ทำนองนั้น พิพากษาแก้เฉพาะโทษจำเลยที่ ๒ คงปรับ ๖๐๐ บาท นอกนั้นยืน

Share