คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือไปถึงผู้ร้องให้ชำระหนี้หรือชี้แจงข้อปฏิเสธเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน ผู้ร้องเข้าใจผิดว่ากองบังคดีล้มละลายเป็นส่วนราชการของศาลแพ่ง จึงมีหนังสือปฏิเสธหนี้ไปถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้รับชำระหนี้หรือหนังสือปฏิเสธหนี้จากผู้ร้องภายในกำหนดเวลา จึงถือว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 ศาลแพ่งได้ออกคำบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องขอให้ศาลแพ่งสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาหนังสือปฏิเสธหนี้ของผู้ร้อง ศาลแพ่งสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใมหญ่เห็นว่า ผู้ร้องมิได้แจ้งการปฏิเสธเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 วรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งบังคับผู้ร้องชำระหนี้ ศาลก็ต้องสั่งบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ผู้ร้องจะขอให้ศาลสั่งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ข้อที่ผู้ร้องกล่าวถึงความเข้าใจผิดจึงได้มีหนังสือไปถึงอธิบดีศาลแพ่งนั้น แม้ศาลจะเห็นใจในความเข้าใจผิดศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายได้

ย่อยาว

ในการรวบรวมทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือทวงหนี้ไปถึงผู้ร้องให้ชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่บริษัทจำเลยผู้ล้มละลาย ผู้ร้องได้รับหนังสือนั้นแล้วแต่มิได้ปฏิเสธหนี้หรือนำเงินมาชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่อย่างใด ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายตามจำนวนที่ทวงถามไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอให้ศาลแพ่งออกคำบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลแพ่งได้ออกคำบังคับให้
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่า ได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ทวงให้ชำระหนี้แล้วโดยความเข้าใจผิดของผู้ร้องเข้าใจว่ากองบังคับคดีล้มละลายเป็นส่วนราชการของศาลแพ่ง จึงได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ไปถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ศาลแพ่งได้รับหนังสือนั้นแล้วไม่ได้ชี้แจงว่าศาลแพ่งไม่อาจรับหนังสือของผู้ร้องไว้ได้ และไม่ได้คืนหนังสือต่อผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ทราบว่าการปฏิเสธหนี้นั้นไม่ได้รับการพิจารณา จนกระทั่งได้รับคำบังคับของศาลแพ่ง จึงขอให้พิจารณาการปฏิเสธหนี้ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗ ถึง ๒๐๙ ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓
ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๙ บัญญัติให้ผู้ร้องชี้แจงข้อปฏิเสธเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน ๑๔ วัน มิฉะนั้นจะต้องถือว่าเป็นลูกหนี้กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย ศาลไม่อาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาการปฏิเสธหนี้ของผู้ร้องใหม่ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้จงใจที่จะไม่ปฏิเสธหนี้ จึงมีเหตุสมควรที่จะพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗ ถึง ๒๐๘ ประกอบกับบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๙ ได้วางข้อกำหนดเกี่ยวกับการบังคับชำระหนี้ซึ่งบุคคลอื่นจะต้องชำระเป็นเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ในคดีล้มละลาย โดยไม่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งสามัญทั่วไปโดยวางข้อกำหนดดำเนินการตามลำดับดังนี้ วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลที่เห็นว่าเป็นหนี้เงินหรือทรัพย์สินนั้น ให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งยังให้แจ้งไปด้วยว่า ถ้าจะปฏิเสธก็ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธดังกล่าว จะถือว่าเป็นหนี้ตามที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด วรรค ๒ บัญญัติถึงกรณีที่ผู้รับแจ้งได้ปฏิเสธตามความในวรรคแรก โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วพิจารณาว่าผู้นั้นเป็นหนี้จริงหรือไม่เพียงใด ถ้าพิจารณาเห็นว่าไม่เป็นหนี้ ก็จำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้ และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบ ถ้าเห็นว่าเป็นหนี้เท่าใด ก็ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทรา พร้อมทั้งแจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใด ก็ให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดสิบสี่วัน วรรค ๓ บัญญัติให้ศาลดำเนินการพิจารณา และมีคำสั่งในเมื่อมีการคัดค้านตามวรรค ๒ วรรค ๔ บัญญัตว่า ถ้าไม่มีการปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดที่กฎหมายระบุไว้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจร้องขอต่อศาลให้บังคับบุคคลนั้นชำระหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ตามข้อความในวรรค ๔ ประกอบกับข้อความในวรรคแรก ๆ แสดงให้เห็นชัดว่า ในกรณีที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในตอนแรกผู้รับแจ้งจะต้องปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าเป็นกรณีที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หลังจากได้มีการปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการสอบสวนแล้ว ต้องร้องคัดค้านต่อศาล ฉะนั้น ในกรณีที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในตอนแรก ผู้รับแจ้งจะปฏิเสธต่อศาลหรือต่อบุคคลอื่นไม่ได้ ถ้าผู้รับแจ้งมิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็ไม่มีการปฏิเสธตามที่กฎหมายระบุไว้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลนั้นชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินได้ ตามข้อความในมาตรา ๑๑๙ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “มิฉะนั้น จะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นเด็ดขาด” ประกอบกับข้อความในวรรค ๔ ที่ว่า “เจ้าพนักงานทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้” นั้น เป็นข้อความที่แสดงว่า ในกรณีที่ไม่มีการปฏิเสธตามกฎหมายนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้ผู้นั้นชำระหนี้แล้ว ศาลต้องสั่งบังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลที่จะพิจารณาสั่งเป็นอย่างอื่นได้ กรณีในคดีเรื่องนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นที่ค้างชำระหนี้แก่ผู้ล้มละลาย ๔๕,๐๐๐ บาท อันเป็นการแจ้งความในวรรคแรกของมาตรา ๑๑๙ แต่ผู้ร้องมิได้มีหนังสือปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องอ้างว่าได้มีหนังสือปฏิเสธมายังอธิบดีศาลแพ่งแล้ว ศาลฎีกาพร้อมกับประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมิได้แจ้งการปฏิเสธเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งบังคับผู้ร้องชำระหนี้ ศาลก็ต้องสั่งบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ ผู้ร้องจะขอให้ศาลสั่งเป็นอย่างอื่นหรือขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๗ ถึง ๒๐๙ ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา ๑๕๓ ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้พระราชบัญญัติล้มละลายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะอยู่แล้ว ข้อที่ผู้ร้องกล่าวถึงความเข้าใจผิดจึงได้มีหนังสือไปถึงอธิบดีศาลแพ่งนั้น แม้ศาลจะเห็นใจในความเข้าใจผิด ศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายได้
พิพากษายืน

Share