แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติ ญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8กำหนดให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สินคือโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ นั้น ค่ารายปีที่โจทก์ยอมให้กำหนด เป็นค่ารายปีเฉพาะส่วนของโรงเรือน หาใช่รวมถึงค่ารายปีของที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนไม่…..เมื่อที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องนี้โจทก์มิได้ให้เช่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีของที่ดินส่วนนี้ เทียบเคียงกับอัตราการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในการทำสวน จึงเป็นอัตราที่ที่ดินนี้สมควรจะให้เช่าได้ โจทก์ลดค่าเช่าท่าเทียบเรือโดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงต้องลดค่าเช่า จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าที่โจทก์ลดให้แล้ว มิใช่จำนวนเงินอันสมควรให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ตามค่าเช่าเดิมที่โจทก์เคยให้เช่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 8 วรรคสอง ค่ารายปีของโรงเรือน 7 รายการ พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นโดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1แต่เมื่อลักษณะสภาพและประโยชน์การใช้ไม่เหมือนกันไม่อาจบ่งให้เห็นว่าโรงเรือน 7 รายการนี้มีคุณค่าสูงกว่าโรงเรือนตามรายการที่ 1แม้พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนดค่าเช่าต่อตารางเมตรน้อยกว่าก็ยังไม่อาจบ่งให้เห็นว่าเป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ ต้องนำค่ารายปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีตามมาตรา 18 และการที่โจทก์ยอมให้เพิ่มค่ารายปีสูงขึ้นอีกร้อยละ 2.5 ตามดัชนีราคาผู้บริโภคของปี 2529 แม้จะไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้นำดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าวมาคำนวณเพิ่มค่ารายปี แต่ดัชนีดังกล่าวก็เป็นเครื่องชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างหนึ่ง อันสมควรที่ทรัพย์สินดังกล่าวจะได้ค่าเช่าเพิ่มมากขึ้นในเมื่อจำเลยมิได้สืบให้เห็นถึงเหตุที่จะได้ค่าเช่ามากกว่านั้น เมื่อการเพิ่มค่ารายปีของโจทก์ เป็นการเพิ่มให้มากขึ้นกว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วที่เป็นหลักในการคำนวณตามมาตรา 18 ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีมากขึ้นข้อโต้แย้งของโจทก์ที่ว่าไม่อาจนำค่ารายปีของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 มาเปรียบเทียบและสมควรเพิ่มค่ารายปีจากค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วในอัตราร้อยละ 2.5 ตามดัชนีราคาผู้บริโภคของปี2529 จึงรับฟังได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีของโรงเรือนอีก4 รายการ โดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน แม้อาคารที่นำมาเทียบเคียงจะมีลักษณะสภาพและการใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน แต่ก็พอจะใช้อาศัยเทียบเคียงได้ โรงเรือนทั้งสี่รายการดังกล่าวมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่าอาคารคลังสินค้ามาก เมื่ออาคารคลังสินค้าให้เช่าได้ตารางเมตรละ 55 บาท ต่อเดือน ก็เป็นเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้โรงเรือน 4 รายการนี้ ให้เช่าได้ตารางเมตรละ 45 บาท ต่อเดือนเป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ ส่วนค่ารายปีของอาคารไซโลตามรายการที่ 8 พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเท่าค่ารายปีที่ล่วงมาแล้ว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโรงเรือนหลังนี้ไม่อาจให้เช่าอันจะได้ค่าเช่าตามค่ารายปีที่ล่วงแล้ว ทั้งมิได้โต้แย้งการกรอกค่ารายปีในช่องค่ารายปีที่ล่วงแล้วในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษี การที่โจทก์เพิ่มค่ารายปี ปี 2529 ของโรงเรือนทั้งห้ารายการนี้สูงขึ้นจากค่ารายปีเมื่อปี 2525 อัตราร้อยละ 26.32 ตามภาวะค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ค่ารายปีของปี 2525มิใช่ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว (พ.ศ. 2528) ตามความหมายในพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 จึงไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กำหนดค่ารายปีตามที่โจทก์อ้าง โรงเรือนทั้งห้ารายการ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องจักรอันเป็นส่วนควบที่สำคัญมาตั้งแต่ปี 2522 พนักงานเจ้าหน้าที่กรอกค่ารายปีของปีล่วงแล้วในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีของโจทก์โดยมิได้ระบุว่าเป็นค่ารายปีเฉพาะโรงเรือน จึงต้องหมายรวมถึงค่ารายปีของส่วนควบดังกล่าวด้วย ค่ารายปีของปี 2529 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นจึงเป็นค่ารายปีของทรัพย์สินรวมทั้งส่วนควบ ต้องลดลงเหลือหนึ่งในสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี 2529 จากเจ้าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่ารายปีให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือน 23 รายการ เป็นเงิน 789,660 บาทโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีดังกล่าว 15 รายการ โดยโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 รายการ ซึ่งโจทก์ให้ผู้อื่นเช่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีสูงกว่าที่โจทก์ควรเสียโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 8 รายการ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1กำหนดค่ารายปีสูงขึ้นจากปี 2528 มาก และอีก 5 รายการเป็นโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างประเภทติดตั้งเครื่องจักรใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมอันเป็นส่วนควบกับอาคารโรงเรือนนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1มิได้ลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีตามมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 โจทก์ควรเสียภาษีเป็นเงินเพียง 379,650 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2พิจารณาใหม่ จำเลยที่ 2 วินิจฉัยชี้ขาดยืนตามเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่เรียกเก็บเกินไป 243,854.43 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ให้ผู้อื่นเช่า รายการแรกโจทก์มิได้นำเนื้อที่ดินต่อเนื่องมาประเมินค่ารายปีด้วย รายการหลังเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เสียภาษีเท่ากับที่โจทก์ต้องเสีย โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 8 รายการที่อ้างว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 คิดค่ารายปีสูงกว่าปี 2528มากนั้น เจ้าพนักงาน…..ของจำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีต่ำกว่าที่โจทก์ให้เช่าเสียอีกส่วนโรงเรือนอีก 5 รายการที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้กำหนดค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจ ทั้งมิได้ลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามสิทธิของโจทก์นั้น เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 กำหนดโดยเทียบกับค่ารายปีของปีที่ผ่านมาและค่ารายปีของอาคารอื่น ๆ ในที่ดินแปลงเดียวกัน ส่วนอาคารที่อ้างว่ามีสิทธิได้รับการลดหย่อน โจทก์มิได้สำแดงอัตราค่าเช่าเครื่องจักรสำคัญตามที่อ้างรวมเป็นค่ารายปีตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 จึงไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนค่ารายปี การประเมินของเจ้าพนักงาน…..ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่..ของจำเลยที่ 1 เฉพาะโรงเรือนรายการที่1-4, 8-10, 14, 18-23 ตามฟ้องโจทก์ และเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 231,702.18 บาท แก่โจทก์ ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดถ้าไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ครบ 3 เดือนจากวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า รายการที่ 1 คลังสินค้าอันเป็นโรงเรือนที่โจทก์ได้ให้บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัดเช่าจำนวนเนื้อที่วัดจากภายใน 2,880 ตารางเมตร วัดจากภายนอกอาคาร 2,917,275 ตารางเมตร โจทก์คิดค่าเช่าตารางเมตรละ 55 บาทต่อเดือนโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับปี 2529 โดยยอมให้คำนวณค่าเช่าอาคารหลังนี้ทั้งปีเป็นเงิน1,925,404.80 บาท คิดเป็นเงินภาษีจำนวน 240,675.60 บาทแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหลังนี้ ซึ่งมีเนื้อที่อีก 24,401.51 ตารางเมตร ที่โจทก์มิได้ให้เช่าด้วย แต่ได้ให้ผู้เช่าใช้เป็นที่จอดรถ มาคำนวณภาษีด้วยแล้วให้โจทก์ชำระภาษีเป็นเงินรวม 313,890 บาท เกินกว่าที่โจทก์ขอชำระจำนวน 73,214.40 บาท โจทก์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีในส่วนที่เกินนี้ ปัญหาจึงมีว่า โจทก์ต้องชำระภาษีในส่วนที่พิพาทนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อที่ดินเนื้อที่ 24,401.51ตารางเมตรนี้ เป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน แต่เป็นที่ดินที่โจทก์มิได้ให้เช่าด้วย มิใช่ส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่ให้เช่า ค่ารายปีจำนวน 1,925,404.80 บาท จึงเป็นค่าเช่าเฉพาะส่วนของโรงเรือนที่ให้เช่าเท่านั้น แต่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 กำหนดให้ผู้รับประเมินชำระค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สินคือโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆนั้น ค่ารายปีที่โจทก์ยอมให้กำหนดดังกล่าว จึงเป็นค่ารายปีเฉพาะส่วนของโรงเรือน หาใช่รวมถึงค่ารายปีของที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนไม่ เมื่อที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องนี้โจทก์มิได้ให้เช่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีของที่ดินส่วนนี้ตามจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าตารางเมตรละ 2 บาทต่อเดือน เทียบเคียงกับอัตราการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในการทำสวน จึงเป็นอัตราที่ที่ดินนี้สมควรจะให้เช่าได้ ที่โจทก์โต้แย้งมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่นำเอาที่ดินต่อเนื่องของอาคารอื่น ๆ มาเหมารวมอยู่ในอาคารคลังสินค้าจึงทำให้มีพื้นที่มากนั้น นอกจากโจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นตามที่กล่าวอ้างนี้แล้ว ยังขัดแย้งกับแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 9 ซึ่งฝ่ายโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความเองว่าที่ดินต่อเนื่องโรงเรือนหลังนี้ใช้สำหรับเป็นที่จอดรถเนื้อที่ 24,401.51 ตารางเมตร ข้อโต้แย้งของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
รายการที่ 2 ท่าเทียบเรือ อันเป็นสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ให้บริษัทน้ำมันอิสาน จำกัด เช่า โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2529 โดยแสดงรายการค่าเช่าในปีที่ล่วงแล้ว (ปี 2528) ว่า เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนได้ค่าเช่าเดือนละ 170,000 บาท เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมได้ค่าเช่าเดือนละ100,000 บาท รวมค่าเช่าทั้งปีเป็นเงิน 1,620,000 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีของปี 2529 เป็นเงิน 2,040,000 บาทโดยอ้างว่าเท่ากับค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว และกำหนดค่าภาษีที่จะต้องเสียเป็นเงิน 255,000 บาท แต่โจทก์จะขอเสียเพียง 202,500บาท อ้างว่าเท่ากับค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วตามค่าเช่าที่โจทก์ได้รับจริง ปัญหาจึงมีว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดค่ารายปีจากจำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าท่าเทียบเรือนี้โจทก์ให้บริษัทน้ำมันอิสาน จำกัด เช่ามาตั้งแต่ปี 2525 ปรากฏตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 โจทก์กรอกข้อความในช่องค่าเช่าในปีที่ล่วงแล้ว (พ.ศ. 2528) ว่า ได้ค่าเช่าของเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนเดือนละ 170,000 บาท ได้ค่าเช่าของเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมเดือนละ 100,000 บาทและหนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ผู้ให้เช่ากับบริษัทน้ำมันอิสาน จำกัด ผู้เช่าตามเอกสารหมาย จ.5ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 กำหนดอายุสัญญาเช่าท่าเทียบเรือตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2529 ค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท โดยนายเมธี ปายะนันทน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าเดิมโจทก์เก็บค่าเช่าเดือนละ 170,000 บาท แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 2529 โจทก์เก็บค่าเช่าลดลงเหลือเดือนละ 100,000 บาท แสดงว่าโจทก์ให้เช่าท่าเทียบเรือเดือนละ170,000 บาท มาแต่แรก เพิ่งมาลดค่าเช่าเหลือเดือนละ 100,000 บาทตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2529 เป็นต้นไป โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ว่าเหตุใดจึงต้องลดค่าเช่า โจทก์เพิ่งอ้างเหตุที่ต้องลดค่าเช่ามาในคำแก้อุทธรณ์ว่า เพราะภาวะแวดล้อมและการใช้ประโยชน์เหลือน้อย ค่าเช่าสูงไปผู้เช่าจึงขอลด เป็นข้ออ้างที่ไม่ใช่เกิดจากทางนำสืบ จึงไม่อาจรับฟัง การลดค่าเช่าดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ลดให้เอง เป็นกรณีที่มีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าที่โจทก์ลดให้แล้วมิใช่จำนวนเงินอันสมควรให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ตามค่าเช่าเดิมที่โจทก์เคยให้เช่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา8 วรรคสอง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ในข้อนี้ชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหานี้ฟังขึ้น
รายการที่ 3 สำนักงานขาย เป็นโรงเรือนอันเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวขนาด 7.3 x 15 เมตร เนื้อที่ 109.5 ตารางเมตร ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว (พ.ศ. 2528) เป็นเงิน 32,880 บาท รายการที่ 18-21 ห้องน้ำและห้องส้วมกับป้อมยาม เป็นอาคารตึกชั้นเดียว4 หลัง ขนาด 4 x 6.5 เมตร เนื้อที่ 26 ตารางเมตร, ขนาด 2 x 2 เมตรเนื้อที่ 4 ตารางเมตร ขนาด 1 x 1 เมตร เนื้อที่ 1 ตารางเมตร และขนาด 1 x 1 เมตร เนื้อที่ 1 ตารางเมตร ตามลำดับค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วทั้ง 4 หลัง รวมเป็นเงิน 7,680 บาท รายการที่ 22สำนักงานหัวหน้าศูนย์จ่าย เป็นอาคารตึก 2 ชั้น ขนาด 6 x 8.5 เมตรเนื้อที่ 51 ตารางเมตร ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว (คิดเป็น 12 เดือน)เป็นเงิน 24,480 บาท รายการที่ 23 ห้องน้ำและห้องส้วมเป็นอาคารตึกชั้นเดียว ขนาด 4 x 6.5 เมตร เนื้อที่ 26 ตารางเมตรค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว (คิดเป็น 12 เดือน) เป็นเงิน 4,680 บาทแต่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2529 โดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 ซึ่งให้เช่าตารางเมตรละ55 บาท ต่อเดือน แล้วกำหนดให้โรงเรือนตามรายการที่ 3 สมควรจะให้เช่าได้ตารางเมตรละ 30 บาท ต่อเดือน ค่ารายปีเป็นเงิน39,480 บาท ค่าภาษี 4,935 บาท กำหนดให้โรงเรือนตามรายการที่ 18-21 สมควรจะให้เช่าได้ตารางเมตรละ 25 บาทต่อเดือน ค่ารายปี 9,600 บาท ค่าภาษี 1,200 บาท กำหนดให้โรงเรือนตามรายการที่ 22 สมควรจะให้เช่าได้ตารางเมตรละ 45 บาทต่อเดือน ค่ารายปี55,080 บาท ค่าภาษี 6,885 บาท กำหนดให้โรงเรือนตามรายการที่ 23 สมควรจะให้เช่าได้ตารางเมตรละ 25 บาท ต่อเดือนค่ารายปี 10,920 บาท ค่าภาษี 1,365 บาท โจทก์โต้แย้งว่าไม่อาจนำค่ารายปีของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 มาเปรียบเทียบเพราะมีลักษณะสภาพและการใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน สมควรเพิ่มค่ารายปีจากค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วในอัตราร้อยละ 2.5 ตามดัชนีราคาผู้บริโภคของปี 2529 ปัญหาจึงมีว่า ค่ารายปีของโรงเรือน 7 รายการนี้ได้กำหนดจากค่าเช่าของทรัพย์สินนั้น ๆ ที่สมควรจะให้เช่าได้หรือไม่เห็นว่า โรงเรือนทั้ง 7 รายการนี้ โจทก์มิได้ให้เช่าแต่เป็นผู้ใช้เอง การกำหนดค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 8 ต้องกำหนดจากค่าเช่าทั้งปีที่ทรัพย์สินนั้น ๆสมควรจะให้เช่าได้ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า ซึ่งโดยหลักจะต้องเปรียบเทียบจากค่าเช่าของทรัพย์สินอื่นที่มีการให้เช่า ซึ่งทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นมีลักษณะสภาพและประโยชน์การใช้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะสภาพและประโยชน์การใช้เหมือนกันมาเปรียบเทียบ ก็มิได้หมายความว่าจะนำทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะสภาพและประโยชน์การใช้ไม่เหมือนกันมาเปรียบเทียบไม่ได้เสียเลยถ้าการนำทรัพย์สินอื่นนั้นมาเปรียบเทียบแล้ว สามารถทำให้เห็นว่าจำนวนเงินที่กำหนดเป็นค่ารายปีนั้นสมควรหรือไม่ ก็อาจนำมาเปรียบเทียบได้สำหรับค่ารายปีของโรงเรือนทั้ง 7 รายการนี้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นโดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 ซึ่งให้เช่าตารางเมตรละ 55 บาท ต่อเดือนแล้วกำหนดให้โรงเรือนทั้ง 7 รายการนี้สมควรให้เช่าได้ต่อเดือนตารางเมตรละ 25 บาท บ้าง 30 บาท บ้าง 45 บาท บ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า คลังสินค้าตามรายการที่ 1 เป็นอาคารไม้ปนตึก แม้เป็นอาคารชั้นเดียว แต่ปรากฏตามภาพถ่ายของอาคารในเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 205 ภาพแรกว่าตัวอาคารสูงมากบรรจุสินค้าในส่วนสูงได้มาก ส่วนโรงเรือนทั้ง 7 รายการตามภาพถ่ายในเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 206, 208-210 บางอาคารเป็นตึก บางอาคารเป็นตึกปนไม้บางอาคารเป็นไม้ ทั้ง 7 รายการเป็นอาคารชั้นเดียว ต่ำกว่าอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 มาก เมื่อลักษณะสภาพและประโยชน์การใช้ไม้เหมือนกัน ไม่อาจบ่งให้เห็นว่าโรงเรือน 7 รายการนี้มีคุณค่าสูงกว่าโรงเรือนตามรายการที่ 1 แม้พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนดค่าเช่าต่อตารางเมตรน้อยกว่าก็ยังไม่อาจบ่งให้เห็นว่าเป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ จึงต้องนำค่ารายปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีในครั้งนี้ตามมาตรา 18 การที่โจทก์ยอมให้เพิ่มค่ารายปีให้สูงขึ้นอีกร้อยละ 2.5ตามดัชนีราคาผู้บริโภคของปี 2529 แม้จะไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้นำดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าวมาคำนวณเพิ่มค่ารายปี แต่ดัชนีดังกล่าวก็เป็นเครื่องชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างหนึ่ง อันสมควรที่ทรัพย์สินดังกล่าวจะได้ค่าเช่าเพิ่มมากขึ้นในเมื่อจำเลยมิได้สืบให้เห็นถึงเหตุที่จะได้ค่าเช่ามากกว่านี้ เมื่อการเพิ่มค่ารายปีของโจทก์เป็นการเพิ่มให้มากขึ้นกว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วที่เป็นหลักในการคำนวณตามมาตรา 18 ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีมากขึ้นศาลฎีกาจึงเห็นด้วยกับข้ออ้างของโจทก์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาในข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
รายการที่ 4 อาคารห่อปูน เป็นอาคารตึก 5 ชั้น ขนาด10 x 13 เมตร เนื้อที่ 130 ตารางเมตร พนักงานเจ้าหน้าที่กรอกค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว (พ.ศ. 2524) ในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 7 เป็นเงิน 312,000บาท รายการที่ 8 อาคารไซโล เป็นอาคารตึกชั้นเดียว ขนาด 14.3 x 29.3เมตร เนื้อที่ 418.99 ตารางเมตร พนักงานเจ้าหน้าที่กรอกค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นเงิน 600,000 บาท รายการที่ 9 ห้องลูบปูนเรือ 1 เป็นอาคารตึกชั้นเดียวขนาด 2.8 x 3.4 เมตร เนื้อที่9.52 ตารางเมตร พนักงานเจ้าหน้าที่กรอกค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นเงิน 4,560 บาท รายการที่ 10 ห้องสูบปูนเรือ 2 มีสภาพและขนาด และค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเท่ารายการที่ 9 รายการที่ 14ห้องสูบลม เป็นอาคารตึกชั้นเดียว ขนาด 6.4 x 18 เมตร เนื้อที่115.2 ตารางเมตร พนักงานเจ้าหน้าที่กรอกค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นเงิน 55,320 บาท อาคารทั้ง 5 หลังนี้ จำเลยรับมาในอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญ มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีประจำปี 2529 โดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 ซึ่งให้เช่าตารางเมตรละ 55 บาท ต่อเดือน แล้วกำหนดให้โรงเรือนตามรายการที่ 4, 9, 10 และ 14 สมควรจะให้เช่าได้ตารางเมตรละ 45 บาท ต่อเดือนรายการที่ 4 กำหนดค่ารายปี351,000 บาท ค่าภาษี 43,875 บาท รายการที่ 9 และ 10 กำหนดค่ารายปีรายการละ 5,160 บาท ค่าภาษีรายการละ 645 บาทรายการที่ 14 กำหนดค่ารายปี 62,280 บาท ค่าภาษี 7,785 บาท ส่วนรายการที่ 8 กำหนดค่ารายปีเท่ากับค่ารายปีที่ล่วงแล้วเป็นเงิน600,000 บาท ค่าภาษี 75,000 บาท โจทก์โต้แย้งว่าพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีสูงไป ควรเพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจของประเทศซึ่งสูงจากปี 2525 ถึง 2529 อัตราร้อยละ 26.32 และพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้ลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 เพราะเป็นโรงเรือนที่มีเครื่องจักรกลไกอันเป็นส่วนควบที่สำคัญ ปัญหาจึงมีว่าการกำหนดค่าภาษีโรงเรือน 5 รายการนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กระทำโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดค่ารายปีของโรงเรือนทั้ง 4 รายการนี้ โดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าตามรายการที่ 1 ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน แม้อาคารที่นำมาเทียบเคียงจะมีลักษณะสภาพและประโยชน์การใช้ไม่เหมือนกัน แต่ก็พอจะใช้อาศัยเทียบเคียงได้ตามที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น โรงเรือนตามรายการที่ 4เป็นตึก 5 ชั้น โรงเรือนตามรายการที่ 9, 10 และ 14 เป็นตึกชั้นเดียวเครื่องจักรกลไกที่ติดตั้งไว้มีมูลค่าสูงเพราะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการผลิตปูนซิเมนต์ เทียบเคียงกับคลังสินค้าซึ่งเป็นเพียงโครงรูปตัวอาคารที่สร้างไว้เพื่อเก็บรักษาสินค้าอย่างเดียวแล้ว เห็นได้ว่า โรงเรือนทั้ง 4 รายการดังกล่าวมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่ามาก เมื่ออาคารคลังสินค้าให้เช่าได้ตารางเมตรละ 55 บาทต่อเดือน ก็เป็นเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้โรงเรือน 4 รายนี้ให้เช่าได้ตารางเมตรละ 45 บาท ต่อเดือน เป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ ส่วนค่ารายปีของอาคารไซโลตามรายการที่ 8 พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดเท่าค่ารายปีที่ล่วงแล้วเมื่อโจทก์มิได้สืบให้เห็นว่าโรงเรือนหลังนี้ไม่อาจให้เช่าอันจะได้ค่าเช่าตามค่ารายปีที่ล่วงแล้ว ทั้งมิได้โต้แย้งการกรอกค่ารายปีในช่องค่ารายปีที่ล่วงแล้วในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีว่ามิใช่ค่ารายปีที่ล่วงแล้ว การที่โจทก์เพิ่มค่ารายปีของโรงเรือนทั้ง…..5 รายการนี้สูงขึ้นจากค่ารายปีเมื่อปี 2525 อัตราร้อยละ 26.32 ตามภาวะค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจของประเทศเมื่อค่ารายปีของปี 2525 มิใช่ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว (พ.ศ. 2528)ตามความหมายในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 18 จึงไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กำหนดค่ารายปีตามที่โจทก์กล่าวอ้างค่ารายปีแห่งทรัพย์สินทั้ง 5 รายการนี้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กำหนดขึ้นจึงถูกต้อง แต่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสาม โดยอ้างว่าโจทก์มิได้สำแดงค่ารายปีของเครื่องจักรอันเป็นส่วนควบนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโรงเรือนทั้ง 5 รายการนี้ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องจักรอันเป็นส่วนควบที่สำคัญมาตั้งแต่ปี 2522 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กรอกค่ารายปีของปีล่วงแล้วในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีของโจทก์โดยมิได้ระบุว่าเป็นค่ารายปีเฉพาะโรงเรือน จึงต้องหมายรวมถึงค่ารายปีของส่วนควบดังกล่าวด้วยค่ารายปีของปีนี้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นจึงเป็นค่ารายปีของทรัพย์สินรวมทั้งส่วนควบด้วยจึงต้องลดลงเหลือหนึ่งในสาม อาคารต่อปูนตามรายการที่ 4 ค่าภาษีที่จะต้องเสียจึงมีเพียง 14,625 บาท อาคารไซโลตามรายการที่ 8 ค่าภาษีที่จะต้องเสียจึงมีเพียง 25,000 บาท ห้องสูบปูนเรือ 1, 2 ตามรายการที่ 9, 10 ค่าภาษีที่จะต้องเสียจึงมีเพียงรายการละ 215 บาท ห้องสูบลมตามรายการที่ 14 ค่าภาษีที่จะต้องเสียจึงมีเพียง 2,595 บาท รวม 5 รายการเป็นเงินค่าภาษีที่จะต้องเสีย 42,650 บาท จำเลยที่ 1 ต้องคืนส่วนที่เกินเป็นเงิน 85,300 บาท ให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ได้ประเมินเฉพาะโรงเรือนตามรายการที่ 3, 4, 8-10, 14, 18-23 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ที่เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 90,751.75บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือน หากไม่ชำระในกำหนดให้จำเลยที่ 1เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์