คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2152/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญารายพิพาทเรียกว่าสัญญารับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ ซึ่งในสัญญาเรียกว่าผู้ฝากกับโรงสี ม. โดยจำเลยผู้เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ซึ่งในสัญญาเรียกว่าผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าว โดยผู้รับฝากฯ ตกลงจะรับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกทุกชนิดของผู้ฝาก และผู้รับฝากจะส่งมอบข้าวกลับคืนให้แก่ผู้ฝากเป็นข้าวสารตามชนิด จำนวนและระยะเวลาที่คณะกรรมการสำรองข้าวสั่ง โดยผู้ฝากให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้รับฝากเป็นต้นข้าวปลายข้าวและรำข้าวที่เหลือจากการส่งให้แก่ผู้ฝาก สัญญาเช่นนี้หาใช่สัญญาฝากทรัพย์ไม่ แต่เป็นสัญญาที่จำเลยตกลงรับฝากเก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อสีแปรสภาพจนสำเร็จเป็นข้าวสารให้แก่โจทก์และโจทก์ตกลงให้ต้นข้าว ปลายข้าว และรำข้าวเป็นการตอบแทนที่จำเลยสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะพยุงราคาข้าวโดยให้ชาวนาขายข้าวเปลือกที่ตนผลิตแก่รัฐบาลโดยตรงโดยมีหน่วยรับซื้อของทางราชการคือ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 และคณะกรรมการสำรองข้าวซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการนี้ เมื่อซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วจะมอบไว้กับโรงสีที่ตั้งอยู่ในท้องที่เป็นผู้เก็บข้าวเปลือกและเมื่อคณะกรรมการสำรองข้าวมีคำสั่งให้โรงสีส่งมอบ โรงสีจะต้องแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารชนิดใดชนิดหนึ่งตามตกลงส่งมอบให้เป็นคราว ๆ โดยโรงสีจะได้รับประโยชน์คือรำข้าว ต้นข้าว และปลายข้าวทั้งหมด เมื่อวันที่ 4มกราคม 2515 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีมิตรทวี ยื่นคำเสนอขอรับเป็นผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกในนามของโรงสีมิตรทวีต่อประธานคณะกรรมการสำรองข้าวกระทรวงพาณิชย์ ปรากฏรายละเอียดตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องต่อมาจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว 2 ครั้ง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้เรียกร้องให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ผู้ค้ำประกันจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้วบางส่วน ซึ่งยังขาดจำนวนอยู่อีกซึ่งจำเลยต้องรับผิด ค่าเสียหายทั้ง 2 ครั้งที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 709,943.20 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยเสีย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 709,943.20 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จำเลยทำคำเสนอขอรับเป็นผู้ฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกต่อประธานคณะกรรมการสำรองข้าวและทำสัญญารับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกกับโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมาย 1 ท้ายฟ้องจริง จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์จะคิดราคาข้าวในขณะส่งมอบไม่ได้เพราะเป็นการฝากทรัพย์ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องราคาทรัพย์ที่ฝากตามราคาในวันฝากเท่านั้น เมื่อโจทก์เรียกร้องให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันเต็มมูลค่าข้าวที่ฝากแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาข้าวที่ฝากในขณะส่งมอบจากจำเลยอีก โจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลา 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญารับฝากทรัพย์แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์เรียกร้องเอาเงินจากธนาคารเป็นเงิน 1,020,000 บาท ซึ่งเกินจากความรับผิดของจำเลยไป 177,838.79บาท โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนนี้แก่จำเลย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้เงิน 177,838.79 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาและจะต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 1 ซึ่งเป็นการรับผิดนอกเหนือจากที่ธนาคารทำสัญญาค้ำประกันไว้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาฝากทรัพย์ หากเป็นสัญญาฝากทรัพย์ฟ้องแย้งของจำเลยก็เป็นการฟ้องแย้งเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ ฟ้องแย้งของจำเลยก็ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 709,943.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์ที่ 1ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายพยุงราคาข้าวโดยให้ชาวนาขายข้าวเปลือกที่ตนผลิตแก่รัฐบาลโดยตรง จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่าคณะกรรมการสำรองข้าวโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทำเศรษฐการซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการโดยคณะกรรมการสำรองข้าวจะจัดเจ้าหน้าที่เป็นหน่วยรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วจะมอบให้โรงสีที่ตั้งอยู่ในท้องที่เป็นผู้เก็บข้าวเปลือกที่ซื้อจากชาวนา เมื่อคณะกรรมการสำรองข้าวมีคำสั่งให้โรงสีส่งมอบข้าวสารชนิดใดโรงสีจะต้องสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารชนิดนั้นส่งมอบให้เป็นคราว ๆโดยโรงสีจะได้รับประโยชน์คือ ต้นข้าว ปลายข้าว และรำข้าวทั้งหมด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2515 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีมิตรทวียื่นคำเสนอขอรับเป็นผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกในนามของโรงสีมิตรทวีต่อประธานคณะกรรมการสำรองข้าว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ประธานคณะกรรมการสำรองข้าวอนุมัติแล้วจำเลยทำสัญญารับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกกับกระทรวงเศรษฐการจำนวน 550 ตัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.14 โดยถือเอาระเบียบการรับโรงสีเป็นสถานที่เก็บและสีแปรสภาพข้าวตามเอกสารหมาย จ.3 และบัญชีข้าวสารที่โรงสีจะต้องส่งมอบตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ต่อมาจำเลยทำสัญญารับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกเพิ่มเติมอีก ในการรับฝากเก็บข้าวเปลือกแต่ละครั้งจำเลยจัดให้ธนาคารทำหนังสือค้ำประกันเต็มราคาข้าวเปลือกที่โจทก์ที่ 1 ซื้อจากชาวนา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยผิดสัญญา แต่เห็นว่าควรรับผิดชำระค่าเสียหายเพียง 654,859.80 บาท

วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นสัญญาฝากทรัพย์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเมื่อพ้น 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญาคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.14 เรียกว่าสัญญารับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นสัญญาระหว่างกระทรวงเศรษฐการซึ่งในสัญญาเรียกว่าผู้ฝากกับโรงสีมิตรทวีโดยจำเลยผู้เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ซึ่งในสัญญาเรียกว่าผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวโดยผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวตกลงจะรับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเปลือกทุกชนิดของผู้ฝากและผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวสัญญาจะส่งมอบข้าวกลับคืนให้แก่ผู้ฝากเป็นข้าวสารตามชนิด จำนวน และระยะเวลาที่คณะกรรมการสำรองข้าวสั่ง โดยผู้ฝากให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้รับฝากเก็บและสีแปรสภาพข้าวเป็นต้นข้าว ปลายข้าวและรำข้าวที่เหลือจากการส่งให้แก่ผู้ฝาก โดยในสัญญาไม่ปรากฏว่าผู้รับฝากต้องส่งคืนข้าวเปลือกที่รับไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก จึงเห็นได้ว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.14หาใช่สัญญาฝากทรัพย์ไม่ แต่เป็นสัญญาที่จำเลยตกลงรับฝากเก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อสีแปรสภาพจนสำเร็จเป็นข้าวสารให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่โจทก์ที่ 1 ตกลงให้ต้นข้าว ปลายข้าวและรำข้าวเป็นการตอบแทนที่จำเลยสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร สัญญาตามเอกสารหมาย จ.41 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามฎีกาของจำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน654,858.80 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share