คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว
ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง
จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนเงิน จำนวน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว และโจทก์ไม่จำต้องบรรยายในฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11, 23 มกราคม 2548 และวันที่ 6 มิถุนายน 2548 จำเลยซึ่งประกอบอาชีพทนายความได้รับเงินค่าว่าความในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพังงา เรื่อง แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำนวน 5,000 บาท 5,000 บาท และ 25,000 บาท ตามลำดับไปจากนางสาวศิริวรรณ ผู้เสียหาย ไว้ในความครอบครองของจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหายตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องได้ความว่า ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล นอกจากนี้โจทก์มีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยคืนเงิน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ตามฟ้องแล้วว่า จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงิน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share