คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8384/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2556 จำเลยมาที่บ้านโจทก์ร่วมและพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยบอกว่าจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลงเล่นแชร์ทองคำภายใน 1 ถึง 2 วัน แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามยังไม่สนใจ หลังจากนั้นจำเลยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลยอีกหลายครั้งจนกระทั่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามตกลง โดยโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยผ่านทางบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วม ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ได้เงินไปจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสาม โดยจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดรวม 4 กรรม ส่วนที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามนำเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยหลายครั้งหลายคราวตามฟ้องนั้น เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลยในครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และขอให้บังคับจำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 18,855,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 8,490,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 1,525,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 1,090,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวชวพร ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 84 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 10,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 5,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 1,000,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 900,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยหลอกลวงนางสาวชวพร โจทก์ร่วม นางสาววีรวรรณ ผู้เสียหายที่ 2 นายนพพร ผู้เสียหายที่ 3 และนางมลริสา ผู้เสียหายที่ 4 โดยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยบอกว่าได้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลงเล่นแชร์ทองคำภายใน 1 ถึง 2 วัน อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อตกลงเล่นแชร์ทองคำกับจำเลยและมอบเงินให้จำเลยไปโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนนเรศวร ของจำเลย 84 ครั้ง รวม 29,960,000 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามในแต่ละครั้งตามฟ้องก่อนที่โจทก์ร่วมจะโอนเงินของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้จำเลย โดยจำเลยได้รับเงินต่างจำนวนและต่างเวลากันรวม 84 ครั้ง การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งสามารถแยกเจตนาจำเลยในการกระทำความผิดต่างกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 84 กรรม นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์ปากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2556 จำเลยได้มาที่บ้านโจทก์ร่วมและพูดชักชวนให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยบอกว่าจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลงเล่นแชร์ทองคำภายใน 1 ถึง 2 วัน แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามยังไม่ได้สนใจ หลังจากนั้นจำเลยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลยอีกหลายครั้งจนกระทั่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามตกลงเล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยผ่านทางบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วม ดังนี้ การที่จำเลยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนจึงเป็นการกระทำโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสาม โดยจำเลยมีเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน และเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน แม้ต่อมาโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามจะนำเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยหลายครั้งหลายคราวตามฟ้องก็ตาม ก็เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลยในครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคน การกระทำของจำเลยต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนรวม 4 กรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาเป็นความผิดกรรมเดียวจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกในแต่ละกระทงเกินกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 แม้จำเลยไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 4 กรรม ให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share