คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาที่บังคับให้จำเลยออกจาก ที่พิพาทที่ผู้ร้องอ้างว่าสถานที่เช่าพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย เป็นทางเท้าตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่อันจะทำให้สัญญาเช่าเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิสูจน์กันในทางพิจารณาไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อคำร้องของ ผู้ร้องมิได้อ้างว่าสถานที่เช่าเป็นทางเท้าตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำร้องและเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าคือที่ว่างหน้าร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ (บางลำภู)ทางด้านถนนตานีของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและออกหมายบังคับคดีให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกจากที่เช่า
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมิได้เป็นบริวารของจำเลยผู้ร้องเช่าที่ว่างหน้าร้านค้าของโจทก์ยาว 2.60 เมตร เพื่อขายของจากโจทก์โดยตรง โดยรับโอนสิทธิการเช่าที่ครึ่งหนึ่งจากนายสำเภา ธนะวิบูลย์ เมื่อปี 2523 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งรับโอนจากนางรัตนา ลือประชาการเมื่อปี 2524 นอกจากนี้สหกรณ์กรุงเทพจำกัด เจ้าของผู้ให้โจทก์เช่าอาคารและที่ว่างหน้าร้านค้าของโจทก์ก็ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ร้องออกจากที่พิพาท ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี
โจทก์คัดค้านว่า โจทก์ได้สิทธิการเช่าอาคารและที่ว่างหน้าร้านค้าของโจทก์จากสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด มีกำหนด 25 ปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2521 ผู้ร้องเป็นบริวารจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยและบริวารได้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยต้องขนย้ายออกไป ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาข้อสุดท้ายว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งบัญญัติห้ามขายหรือวางของบนทางเท้านั้น เห็นว่า ปัญหาว่าสถานที่เช่าพิพาทเป็นทางเท้าตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิสูจน์กันในทางพิจารณาไม่ใช่เรื่องอำนาจฟ้อง อีกทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อคำร้องของผู้ร้องมิได้อ้างว่าสถานที่เช่าเป็นทางเท้าตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำร้องและเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยกปัญหาขึ้นฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share