แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยที่ 1 ขอแบ่งสินสมรส ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ถึงวันฟ้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนบรรลุนิติภาวะ และให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ
เมื่อผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จึงอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในประเด็นฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ประเด็นสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ก่อนฟ้อง ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนบรรลุนิติภาวะ และประเด็นการแบ่งสินสมรส และอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ถูกเรียกค่าทดแทน
สำหรับประเด็นหย่า เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเด็นเรียกค่าทดแทนที่เรียกจากจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลจึงมิได้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคสอง ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น ส่วนประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1526 ระบุว่า ค่าเลี้ยงชีพศาลจะกำหนดให้เมื่อมีการหย่าเท่านั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายก่อนหย่า การสมรสจึงสิ้นสุดเพราะการตาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ศาลฎีกาเห็นควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะทั้งสามประเด็นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการสมรส ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 (1) ถึง (6) ให้โจทก์มีชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ หากไม่อาจดำเนินการได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารถยนต์ทั้งหมดแทน ในส่วนที่โจทก์มีสิทธิในส่วนของจำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง รวมเป็นเงิน 1,075,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องข้อ 2.2 (1) ถึง (6) ให้โจทก์มีชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากไม่อาจดำเนินการได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ในส่วนที่โจทก์มีสิทธิในส่วนของจำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 7,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าทดแทนแก่โจทก์และบุตรสาวตามฟ้องข้อ 3 (1) ถึง (4) เป็นเงิน 13,480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับหมายด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ส่วนจำเลยที่ 2 ส่งโดยวิธีปิดหมาย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 แต่จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การพร้อมยื่นคำให้การมาแนบท้ายคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 โดยวินิจฉัยว่า การขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปโดยมีเหตุอันสมควรจึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นไปโดยจงใจ จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและรับคำให้การของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางพชรอร ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์และนายอัครวิญญ์ ผู้ร้องที่ 2 บุตรของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ผู้มรณะ คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จึงเห็นควรอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์เฉพาะในประเด็นฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ประเด็นการแบ่งสินสมรส และประเด็นสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ก่อนฟ้องและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนบรรลุนิติภาวะ และอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ถูกเรียกค่าทดแทน
ส่วนประเด็นหย่า เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง หากศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ ศาลก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเด็นเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 นั้นเมื่อศาลมิได้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1525 วรรคสอง ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น สำหรับประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายก่อนหย่า การสมรสจึงสิ้นสุดเพราะการตาย ไม่จำต้องพิจารณาประเด็นการกำหนดค่าเลี้ยงชีพ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในประเด็นหย่า เรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ