คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและพระราชบัญญัติศุลกากร เดิมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุเป็นผู้สอบสวน ต่อมากรมตำรวจได้แต่งตั้งให้ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนคดีนี้แต่ฝ่ายเดียว พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงติดต่อขอรับสำนวนการสอบสวน จากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถรับสำนวนการสอบสวนมาได้ ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดากลับส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง พนักงานอัยการโดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงติดต่อขอสำนวนการสอบสวนคืนจากพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนั้นยังมิได้มีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้อง จำเลยที่ 1 พนักงานอัยการได้คืนสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนต่อไป โดยสอบ บุคคลอื่นเป็นผู้ต้องหาอีกหลายคนซึ่งมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วยภายหลังพนักงานอัยการได้แนะนำให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามคืนสำนวนการสอบสวน และต่อมามีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบสวนเพิ่มเติมทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้น กรณีเช่นนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามยังมีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้อยู่การสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าว หาขัดกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139ถึง มาตรา 143 ไม่ การสอบสวนของ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1 และที่ 2 ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2528)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาโดยมิได้ผ่านการเสียภาษีศุลกากรต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญ และเอาไปเสียซึ่งสินค้าหนีภาษี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 139, 140, 142 และพระราชบัญญัติศุลกากรฯ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 139, 140 วรรคท้าย, 142 และ 91 ให้ลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทหนัก คนละ 6 เดือนกระทงหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ทวิซึ่งเป็นบทหนักคนละ 6 เดือนอีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนข้อหาอื่นและจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ข้อ 2(ข) ที่ว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาทำการสอบสวนเสร็จสิ้นสรุปสำนวนสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 และพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาสั่งสำนวนโดยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ขอสำนวนการสอบสวนไปจากพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาไปทำการสอบสวนเพิ่มเติมอีก ซึ่งเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 ถึงมาตรา 143 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาจึงสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมย้อนหลัง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาไม่มีอำนาจฟ้องอีก ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองนี้ ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เดิมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาซึ่งได้แก่ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ เลนุกูล เป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้สอบสวนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องหาแต่ผู้เดียวต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2519 กรมตำรวจได้แต่งตั้งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนคดีนี้แต่ฝ่ายเดียว ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้รีบไปติดต่อขอรับสำนวนการสอบสวนจากร้อยตำรวจเอกวิโรจน์เพื่อจะทำการสอบสวนคดีต่อไปหลายครั้ง แต่ไม่สามารถรับสำนวนการสอบสวนมาได้ เพราะไม่พบตัวร้อยตำรวจเอกวิโรจน์อยู่ที่สถานีตำรวจ ต่อมาวันที่ 14 เดือนเดียวกันพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดากลับส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 ทางพนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงไปติดต่อขอสำนวนการสอบสวนคืนไปจากพนักงานอัยการและทำการสอบสวนต่อไป ทั้งสองบุคคลอื่นที่เป็นผู้ต้องหาอีกหลายคนซึ่งมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย ภายหลังทางพนักงานอัยการได้แนะนำให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามคืนสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการไปก่อน และต่อมาพนักงานอัยการ ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้นแล้วส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
พิเคราะห์แล้ว ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น เมื่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามขอสำนวนไปจากพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา พนักงานอัยการจังหวัดสงขลายังหาได้สั่งสำนวนโดยยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาทำการสอบสวนแล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่พนักงานอัยการจังหวัดสงขลายังมิได้มีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนกองปราบปรามซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจสอบสวนคดีนี้แต่ฝ่ายเดียวก็ขอสำนวนคืนไไปจากพนักงานอัยการจังหวัดสงขลามาทำการสอบสวนเพิ่มเติม กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามยังมีอำนาจทำการสอบสวนคดีอยู่การสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามหาขัดกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 ถึงมาตรา 143 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2527 นั้น เป็นการล่วงเลยกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้
พิพากษายืน

Share