คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้วางเงินค้ำประกันในการเข้าทำงานกับจำเลยไว้ด้วยโดยในสัญญาจ้างตกลงกันว่าจำเลยจะคืนเงินค้ำประกันเมื่อโจทก์ทำงานครบ 6 เดือน และลาออกโดยบอกกล่าวล่วงหน้า 7 วัน แต่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ตรงตามเวลาที่ตกลงกัน โจทก์จึงลาออกก่อนครบ 6 เดือน และโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า 7 วัน กรณีนี้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทั้งที่โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญา โดยริบเงินค้ำประกันของโจทก์ไว้หาได้ไม่ ต้องคืนแก่โจทก์

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 800 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่ยาม โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 16 ของเดือน ในการที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยได้วางเงินค้ำประกันไว้กับจำเลยจำนวน 800 บาทด้วย ตามใบสมัครงานเอกสารหมาย ล.2 และสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.3 และได้ตกลงกันว่า จำเลยจะคืนเงินค้ำประกันเมื่อโจทก์ทำงานครบ 6 เดือนแล้ว และลาออกโดยบอกกล่าวล่วงหน้า 7 วัน ต่อมาจำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม 2523 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2523 กลับจ่ายให้ในวันที่ 12 มกราคม 2524 และมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม และมกราคม 2524 ในวันที่ 16 มกราคม 2524 แต่จะจ่ายให้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ไม่มีเงินใช้ จำเป็นต้องหางานอื่นทำ จึงลาออกก่อนครบ 6 เดือน และโดยมิได้บอกกล่าวจำเลยล่วงหน้า 7 วัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิรับเงินค้ำประกันตามสัญญาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า อันสัญญานั้นก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่สัญญาคือทั้งโจทก์และจำเลย กรณีนี้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ทั้งที่โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ยามให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้วย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้ เนื่องจากไม่มีเงินใช้ จำต้องหางานใหม่ จึงลาออกไปเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายก่อให้เกิดการผิดสัญญาขึ้นเอง จึงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญา โดยริบเงินค้ำประกันของโจทก์ไว้หาได้ไม่ ต้องคืนให้แก่โจทก์”

พิพากษายืน

Share