คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาสอบถามคำให้การจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาอ้างว่าผิดระเบียบ เพราะจำเลยมิได้ให้การรับสารภาพ ก็เพื่อให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ จึงเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ต้องใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์
จำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์คำให้การและในรายงานกระบวนพิจารณาก่อนที่จะกรอกข้อความเกี่ยวกับเรื่องจำเลยรับสารภาพหรือปฏิเสธ เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ถ้าข้อความที่กรอกไว้ตรงกับคำให้การของจำเลยที่ศาลสอบถาม กระบวนพิจารณาก็ไม่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 วรรคสอง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี
จำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเจ้าหน้าที่ศาลแผนกรับฟ้องได้สอบถามคำให้การจำเลย จำเลยบอกว่าให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ศาลแผนกรับฟ้องจึงนำแบบพิมพ์คำให้การปฏิเสธมาให้จำเลยลงลายมือชื่อเพื่อเสนอต่อศาล ด้วยความหลงผิด ประมาทเลินเล่อ และขาดความรอบคอบของเจ้าหน้าที่ศาลแผนกหน้าบัลลังก์ ซึ่งแจ้งต่อศาลว่าจำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อศาลสอบถามคำให้การจำเลยจำเลยฟังคำถามไม่ชัด ทำให้เข้าใจผิดไปว่าศาลสอบถามแต่เพียงว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2484/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่เท่านั้น ไม่มีเจตนารับสารภาพตามฟ้อง ขอให้ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ว่า รับเป็นอุทธรณ์จำเลย สำเนาให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า จำเลยไม่ใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ เห็นควรให้จำเลยทำมาเสียให้ถูกต้อง เพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นว่าให้ยกคำร้อง หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นว่าให้อุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาสอบถามคำให้การจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ก็ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว โดยอ้างว่าผิดระเบียบ เพราะจำเลยมิได้ให้การรับสารภาพ ก็เพื่อให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่นั่นเอง เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องดังกล่าวโดยให้จำเลยทำเป็นฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ เป็นคำสั่งที่ชอบ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้อ3 ข. มีใจความว่า จำเลยมีเจตนาให้การปฏิเสธจึงลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์คำให้การจำเลยที่ศาลใช้สำหรับในกรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธ และในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งรวมอยู่ในแผ่นเดียวกันโดยยังมิได้กรอกข้อความใดๆ ไว้เลย ถือว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในคำให้การและในรายงานกระบวนพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา ข้อความที่ว่าจำเลยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการไม่ตรงตามเจตนาของจำเลยศาลจะต้องไต่สวนเสียก่อนว่าความจริงเป็นอย่างไร ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง ศาลจะต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างคำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการพิจารณาต่อไปศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์คำให้การจำเลยและในรายงานกระบวนพิจารณาก่อนที่จะกรอกข้อความเกี่ยวกับเรื่องจำเลยรับสารภาพหรือปฏิเสธ แต่เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วถ้าข้อความที่กรอกไว้ตรงกับคำให้การของจำเลยที่ศาลได้สอบถามแล้ว กระบวนพิจารณาก็ไม่ขัดต่อบทมาตราดังกล่าว ในปัญหาว่าศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง หรือไม่ และจำเลยให้การรับสารภาพหรือไม่นั้น แม้การไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ จำเลยจะอ้างอิงพยานมาเบิกความหลายปาก แต่พยานที่สำคัญในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงดังกล่าว คือ นางสาววงเดือนเจ้าหน้าที่ศาลที่ทำหน้าที่เสมียนหน้าบัลลังก์ในขณะที่ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาสอบถามคำให้การจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง พยานปากนี้เบิกความว่า เมื่อศาลออกนั่งพิจารณา ผู้พิพากษาได้อ่านข้อหาว่าฉ้อโกงประชาชนรับใช่ไหม และถามว่านายสินทใช่ไหมเขาฟ้องว่าฉ้อโกงประชาชนรับใช่ไหม จำเลยตอบว่า ‘ครับครับ’ จากนั้นศาลได้อ่านข้อความในเรื่องเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2484/2528 ของศาลนี้ให้จำเลยฟัง จำเลยตอบว่า’ครับ’ ศาลสอบถามเป็นสองช่วง ช่วงแรกรับสารภาพ และช่วงหลังเป็นบุคคลคนเดียวกันกับคดีอื่น และทั้งสองช่วงจำเลยตอบว่า ‘ครับ’หลังจากจำเลยรับคำว่า ‘ครับ’ 2 ครั้งแล้ว ศาลได้ตัดสินคดีเลยเมื่อเสร็จการพิจารณาแล้ว นางสาววงเดือนนำสำนวนไปให้จำเลยลงลายมือชื่อ (เข้าใจว่าลายมือชื่อในปกสำนวน) จำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อ อ้างว่าให้การปฏิเสธ นางสาววงเดือนเข้าไปแจ้งให้ผู้พิพากษาทราบ ผู้พิพากษาบอกว่าตอนสอบคำให้การจำเลยรับ ถ้าจำเลยให้การปฏิเสธก็ให้อุทธรณ์เอา ตามคำเบิกความนางสาววงเดือนดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยได้ให้การรับสารภาพต่อศาลตรงตามใจความที่เขียนกรอกไว้ในคำให้การ เพราะถ้าจำเลยให้การปฏิเสธเมื่อศาลถามว่า รับใช่ไหมซึ่งเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงรับสารภาพจำเลยไม่น่าจะตอบว่า ‘ครับ’ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความนางสาววงเดือนดังกล่าวยังถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172วรรคสอง แล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นหาได้ผิดพลาดหรือไม่ชอบแต่ประการใดไม่ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน’
พิพากษายืน.

Share