คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยนั้นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194/34 (1) ตอนท้าย ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่าการซื้อมาเพื่อขายต่อไปแต่อย่างเดียว เพราะยังครอบคลุมถึงกรณีที่ลูกหนี้อาจต้องมีการกระทำใดเช่น การดัดแปลงสินค้าก่อนนำไปจำหน่ายอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นลักษณะของการประกอบอาชีพ จึงย่อมต้องมิใช่การซื้อ มาเพื่อบริโภคเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี มิใช่ 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าสินค้าที่ค้างอยู่จำนวน 241,761.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,552.03 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 200,552.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 41,209.32 บาท ตามที่โจทก์ขอมา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) บัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงให้ขยายเป็นมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวจึงมี ลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้คือจำเลยนั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ 5 ปีตามมาตรา 193/33 (5) หาใช่ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ข้อที่จำเลยฎีกาอ้างว่าในคดีนี้เป็นการซื้อมาเพื่อขายไปอีกต่อหนึ่งโดยมิได้มีการกระทำใดเช่นการดัดแปลงสินค้า จึงไม่ใช่กรณีเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ เพราะมิเช่นนั้นควรบัญญัติเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (5) ตอนท้ายในกรณีผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบหรือสลากที่คล้ายคลึงกันเรียกเอาค่าขายสลากว่า เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อนั้น เห็นว่า ถ้อยคำตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่าการซื้อมาเพื่อขายต่อไปแต่อย่างเดียว เพราะยังครอบคลุมถึงกรณีที่ลูกหนี้อาจต้องมีการกระทำใด เช่น การดัดแปลงสินค้าก่อนนำไปจำหน่ายอีกชั้นหนึ่งอันเป็นลักษณะของการประกอบอาชีพ จึงย่อมต้องมิใช่การซื้อมาเพื่อบริโภคเอง กฎหมายจึงบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำต่างกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์.

Share