แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่กรมข่าวทหาร สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกระทรวงกลาโหม แต่กองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งในสังกัดกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นจากการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการทหารสูงสุดต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76
ค่าเสียหายในเรื่องละเมิดนั้นแม้โจทก์นำสืบถึงจำนวนแน่นอนไม่ได้ศาลก็อาจกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีละเมิดเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา448
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์เก๋งส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้าโคโรลล่า คันหมายเลขทะเบียน 8ค-9104 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ที่ 1 รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการศูนย์ปฏิบัติการข่าวสำนักบัญช่การทหารสูงสุดสังกัดจำเลยที่ 2 และปฏิบัติราชการอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 2ค -7004 กรุงเทพมหานคร โดยได้มอบรถยนต์คันดังกล่าวให้ใช้ในศูนย์ปฏิบัติการข่าวสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2523 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 คันดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าี่ราชการตามที่ได้รับการมอบหมายจากจำเลยที่ 2 จากสะพานกรุงธนโฉมหน้าไปสี่แยกถนนราชวิถีตัดกับ ถนนพระราม 5 ด้วยความประมาทตัดหน้ารถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ที่ขับสวนทางจะไปทางสะพานกรุงธนในระยะกระชั้นชิดจึงเกิดชนกันอย่างแรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหลักแล่นไปชนเสาสัญญาณไฟจราจรด้านสวนสัตว์ดุสิตเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหายอย่างมาก โจทก์ที่ 1ในฐานะผู้รับประกันได้ซ่อมรถของโจทก์ที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย สิ้นเงินไป 65,000 บาท โจทก์ที่ 1 จึงได้รับช่วงสิทธิในการฟ้องคดีนี้ และโดยที่รถของโจทก์ที่ 2 ยังใหม่จากเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้รถของโจทก์ที่ 2 เสื่อมสภาพคิดเป็นเงิน 30,000 บาท ในระหว่างซ่อมรถ180 วัน โจทก์ที่ 2 ต้องจ้างรถแท็กซี่ไปทำธุรกิจตามอาชีพไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท เป็นเงิน 18,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ กระดูกขาแตก มีบาดแผลที่ใบหน้าและลำตัว เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 5,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2เป็นเงิน 53,000 บา ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 65,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1และ 53,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของกองบัญชาการทหารสูงสุดและมิได้นำไปปฏิบัติการในกิจการของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 นำไปใช้ในกิจการของกองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทตามฟ้อง หากแต่เกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2ที่ขับรถยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจร พุ่งเข้ามาชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับ รถยนต์ของโจทก์ที่ 2เสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ค่าเสื่อมสภาพไม่เกิน 5,000 บาท และใช้เวลาซ่อมไม่เกิน3 วัน โจทก์ที่ 2 ไม่ขาดประโยชน์จากการใช้รถเพราะใช้เพื่อความสะดวกสบาย มิใช่เพื่อธุรกิจการค้า หากโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บจริง ก็เป็นเพียงเล็กน้อย ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 300 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอให้เรียกกองบัญชาการทหารสูงสุด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม อ้างว่า เพิ่งทราบจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่า มิได้เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 และมิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับไปเกิดเหตุหากแต่เป็นของกองบัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 โดยตรง ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเกิน 1 ปี ทั้งที่รู้ว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 32,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ 8,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้เสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคดีของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 51,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายทำละเมิดจริงปัญหาเบื้องต้นที่จะวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503มาตรา 17 รวมทั้งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2528 มาตรา 4 บัญญัติให้กองบัญชาการทหารสูงสุด จำเลยร่วม เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกระทรวงกลาโหม จำเลยและตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2506มาตรา 4(4) แบ่งราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด ให้มีกรมข่าวทหารอันเป็นสังกัดที่จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ก็ตาม แต่กองบัญชาการทหารสูงสุด จำเลยร่วม เป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งในสังกัดกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 ดังกล่าวแล้ว และการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นจากการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดังนี้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 สำหรับประเด็นในเรื่องอายุความตามข้อต่อสู้ของจำเลยร่วม ตามพฤติการณ์โจทก์ทั้งสองทราบสำนักที่ทำงานสังกัดของจำเลยที่ 1 มาก่อน โดยปรากฏตามของโจทก์ ระบุที่อยู่ของจำเลยที่ 1ว่า อยู่ศูนย์ปฏิบัติการข่าว กองบัญชาการทหารและยังบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1เป็นข้าราชการปฏิบัติราชการอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการข่าวสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุดอันหมายถึงว่าโจทก์ทั้งสองทราบมาก่อนฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ในสังกัดของกองบัญชาการทหารสูงสุดจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่า เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2523 โจทก์ทั้งสองขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีอันถือเสมือนจำเลยร่วมถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2524 เป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ประเด็นในเรื่องค่าเสียหายข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อฝ่ายโจทก์จึงย่อมมีความเสียหายซึ่งความเสียหายนี้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้ในเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเพียงใด หรือไม่ และค่ารักษาพยาบาลมีเพียงใดพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ฟังได้เพียงว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บไม่ร้ายแรงและมีค่าเสียหายไม่มากดังที่โจทก์นำสืบ สมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,200 บาทเกี่ยวกับค่าซ่อมรถของโจทก์ที่ 2 เมื่อพิเคราะห์จากความร้ายแรงเกี่ยวกับเหตุรถชนกันประกอบกับรายการซ่อมอันไม่จำเป็นบางรายการแล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 1 ได้รับ 36,000 บาท ส่วนระยะเวลาการซ่อม ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้รถ ต้องนั้งรถแท็กซี่ไปประกอบธุรกิจการงาน 2 แห่ง วันละ 100 บาทนั้น เห็นว่าระยะเวลาแห่งการซ่อมไม่ควรเกิน 90 วัน สมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 9,000 บาท สำหรับค่าเสื่อมราคารถโจทก์ที่ 2 พิเคราะห์ความเสียหายของรถจากเหตุชนกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว สมควรกำหนดค่าเสื่อมราคาของรถให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 8,000 บาท รวมค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับ 18,200 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 36,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงินที่ 18,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินแต่ละยอดตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม