คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่จดทะเบียนนั้น ถ้าโต้แย้งกันว่าใครมีสิทธิดีกว่าที่จะนำไปจดทะเบียน ก็อาจนำคดีมาสู่ศาลให้วินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้ โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าประเภทที่ 8 เฉพาะสินค้าแว่นตาอย่างเดียวกัน และขอใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกัน โดยโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “HACO” (ฮาโก้) และจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “MACO” (มาโก้) ซึ่งนายทะเบียนพิเคราะห์เห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 แจ้งให้โจทก์จำเลยทราบว่าจะพิจารณาคำขอให้ต่อไปไม่ได้จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล และโจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงได้นำคดีเรื่องนี้มาฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า “HACO” ซึ่งใช้กันแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสำหรับสินค้าแว่นตาและกรอบแว่นตามาช้านานหลายปีแล้ว ก่อนเครื่องหมายการค้า MACOซึ่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้มหาชนเกิดความสับสนและหลงเข้าใจผิดได้โดยง่าย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า HACO ดีกว่าจำเลยที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า MACO ขอให้ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า MACO และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า MACO ต่อนายทะเบียนเสียด้วย

จำเลยต่อสู้คดีว่า โจทก์จะเป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า HACO หรือไม่ไม่ทราบ และไม่รับรองว่าใช้กันแพร่หลายมาก่อนเครื่องหมายการค้า MACO ของจำเลย อนึ่ง MACO ของจำเลยก็ไม่เหมือนหรือคล้ายกับ HACO แต่อย่างใด ไม่ได้เลียนแบบของผู้ใดและไม่เป็นเหตุให้มหาชนเข้าใจผิด ทั้งจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อนโจทก์ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิอันใดจะห้ามจำเลยใช้และไม่ให้จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า MACO ได้

ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว ตั้งประเด็นขึ้น 6 ข้อ และวินิจฉัยตามประเด็นเหล่านั้นว่า

(1) โจทก์เป็นเจ้าของห้าง เอ.เฮ้าสเล่อร์แอนกำปนี

(2) โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวอีนาเยอรเกนเช่น ฟ้องคดีเรื่องนี้

(3) โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายฮาโก้จดทะเบียนในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และในต่างประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2488

(4) เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้มาก่อนเครื่องหมายการค้าของจำเลย

(5) โจทก์รับโอนสิทธิการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฮาโก้ จากหุ้นส่วนจำกัดภิรมย์เภสัช

(6) เครื่องหมายการค้ามาโก้ของจำเลยมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าฮาโก้ของโจทก์

จึงพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฮาโก้ดีกว่าที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโก้ ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ามาโก้ต่อไป และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโก้เสีย ทั้งนายทะเบียนไม่ต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโก้นั้น ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมค่าทนาย 300 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของห้าง เอ.เฮ้าสเล่อร์แอนด์โก ทำแว่นตาและกรอบแว่นตาเครื่องหมายฮาโก้ออกจำหน่าย ได้ส่งมาจำหน่ายในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2489ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทเมืองทอง จำเลย ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2490 ประดิษฐ์แว่นตาและกรอบแว่นตาชื่อมาโก้ ออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2493 เมื่อเดือนมกราคม 2494 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายมาโก้ และเดือนกุมภาพันธ์ 2494 ห้างภิรมย์เภสัชขอจดทะเบียนเครื่องหมายฮาโก้ แล้วห้างภิรมย์เภสัชโอนสิทธิในการขอนี้ให้แก่โจทก์ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายทั้งสองเครื่องหมายนี้คล้ายคลึงใกล้ชิดกันจึงแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทำความตกลงหรือนำคดีขึ้นสู่ศาล

แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า บุคคลที่จะอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้านั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไว้ตามมาตรา 27 สำหรับเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่ปรากฏในมาตราใดแห่งกฎหมายนี้ให้สิทธิอันใดขึ้นมาตามกฎหมายและแม้เครื่องหมายการค้ารายที่เหมือนกัน หากนายทะเบียนเห็นเป็นการสมควรก็อาจรับจดทะเบียนให้ทั้งสองฝ่ายได้ตามมาตรา 18 ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิพิเศษอย่างใดที่จะห้ามจำเลยไม่ให้จดทะเบียนหรือใช้เครื่องหมายมาโก้ของจำเลย และกรณีที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลตาม มาตรา 17 ก็ต้องหมายถึงว่าเฉพาะกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะอ้างอิงได้ดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งได้โต้แย้งสิทธิของตนผู้ที่เสียสิทธิก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 สำหรับคดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดที่กฎหมายรับรองไว้ จึงไม่มีสิทธิที่จะเอากรณีนี้มาฟ้องให้ศาลพิพากษาได้

จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าทนายสองศาลแก่จำเลย 300 บาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของฝ่ายโจทก์และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า จริงอยู่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 27 และมาตรา 29 วรรคต้นรับรองสิทธิทั่วไปของเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว แต่มาตรา 29 นั้นเอง วรรคท้ายก็ยังรับรองทางแก้ของผู้เสียหายที่ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ด้วย และปัญหาเบื้องต้นแห่งคดีเรื่องนี้มีอยู่เพียงว่า ในระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งต่างกำลังขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนอยู่ด้วยกันนี้ ฝ่ายใดสมควรที่จะได้รับการจดทะเบียนดีกว่ากันเท่านั้น

ควรจะสังเกตว่า มาตรา 16, 17, 18, 19 เป็นเรื่องดุลพินิจของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเหตุผลที่ปรากฏแล้วแต่กรณีเมื่อนายทะเบียนสั่งการไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตราใด ทางแก้ก็ต้องเป็นไปตามความในมาตรานั้น ๆ โดยเฉพาะศาลอุทธรณ์ยกเอามาตรา 18 ขึ้นมาเทียบกับคดีเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องคนละเรื่องมิได้เกี่ยวข้องกันอย่างใดเลย

ปัญหาในคดีเรื่องนี้เกี่ยวกับ มาตรา 17 โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติพิเศษให้คู่กรณีนำคดีมาเสนอต่อศาลได้ ดังนี้แล้วจะอ้างว่า “เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่ปรากฏในมาตราใดแห่งกฎหมายนี้ให้สิทธิอันใดขึ้นมาตามกฎหมาย จึงฟ้องไม่ได้” ดังที่ศาลอุทธรณ์อ้างมานั้นกระไรได้ เพราะมาตรา 17 นี้เองให้สิทธิแก่โจทก์อยู่แล้วอย่างชัดแจ้งและตอนท้ายที่ว่า ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิดีกว่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งโต้แย้งสิทธิของตน ก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจะต้องรอให้มีการโต้แย้งสิทธิกันเสียก่อนจึงจะฟ้องร้องกันได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานี้แล้ว บทบัญญัติใน มาตรา 17 ที่ให้คู่กรณีนำคดีมาเสนอต่อศาลได้นั้นก็ไม่มีประโยชน์

พิเคราะห์ มาตรา 41-42 ต่อไปก็ยังรับรองยืนยันว่า แม้ถึงว่านายทะเบียนจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ฝ่ายหนึ่งไปแล้วก็ดีบุคคลที่มีสิทธิดีกว่ายังอาจขออำนาจศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเสียได้ดังนี้จะอ้างเพียงแต่ว่าเมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาได้ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดที่กฎหมายรับรองไว้จึงเป็นการไม่ถูกต้อง โดยศาลฎีกาเห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวมาทั้งนี้รับรองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังมิได้จดทะเบียนอยู่เหมือนกันและโดยเฉพาะคดีเรื่องนี้โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยได้ตามมาตรา 17

ด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีเรื่องนี้ใหม่ตามนับแห่งข้อกฎหมายดังกล่าวแล้วข้างต้น ค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 150 บาท ในชั้นนี้ให้ผู้แพ้คดีในที่สุดเป็นผู้เสีย

Share