คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4388/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันขายทอดตลาดจำเลยได้มาดูแลการขายและได้คัดค้าน การรวมขายที่ดินแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่บันทึกไว้และบอกให้ไปร้องขอต่อศาลเอง เท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำคัดค้านของจำเลย จำเลยจะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งชี้ขาดเสียภายใน 2 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธคำคัดค้านของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคท้ายเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยจะยกเป็นเหตุคัดค้านภายหลังไม่ได้ โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีสิทธิซื้อที่ดินซึ่ง จำนองเป็นประกันหนี้ไว้ต่อโจทก์จากการขายทอดตลาดโดย คำสั่งศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12(4)(ข) การที่โจทก์ ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเป็นการซื้อทรัพย์จำนองเป็นประกัน หนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ และเป็นการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลจึงเป็นการซื้อโดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,955,609.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีในต้นเงิน 12,893,731.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ยอมร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวเพียง 1,734,356.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงิน 1,640,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยทั้งสามยอมผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้บังคับคดีได้ทันที โดยยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินจำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดนัดโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวม 11 แปลง เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่โจทก์นำยึดทั้งหมดและเฉพาะที่ดินแปลงที่ 4 ถึงแปลงที่ 11 โจทก์เป็นผู้ซื้อได้
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ตั้งนายธวัชชัยไกรสิงห์ เป็นตัวแทนประมูลซื้อที่ดินแปลงที่ 4 ถึงแปลงที่ 11โดยไม่ชอบ ตัวแทนโจทก์กับพวกร่วมประมูลซื้อราคาต่ำกว่าที่เป็นจริงในปัจจุบัน และเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้เพื่อช่วยเหลือโจทก์ เป็นการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้คัดค้านราคาขายไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 10 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยไม่ได้แยกส่วนของจำเลยที่ 2และที่ 3 ออกจากกันก่อน จึงเป็นการบังคับคดีโดยไม่ชอบและขายที่ดินแปลงที่ 10 และแปลงที่ 11 รวมกันไปทั้งที่การขายที่ดินแปลง 11 แปลงเดียวก็สามารถชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 ได้ครบถ้วนทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบ จึงทำการคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแยกขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทีละแปลง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 7, 8, 9, 10 และ 11
โจทก์คัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เนื่องจากมีการขายทอดตลาดมาหลายครั้งแต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ เมื่อมีการขายทอดตลาดครั้งที่ 4 จำเลยที่ 2และที่ 3 นำญาติเข้าประมูลซื้อแต่ต่ำกว่าราคาประเมินเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ขาย ครั้งสุดท้าย จำเลยที่ 2 และที่ 3นำญาติเข้าประมูลซื้อแข่งกับโจทก์อีก แต่โจทก์ก็เป็นผู้ให้ราคาสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีทุกแปลง สำหรับการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 10 และแปลงที่ 11 คือโฉนดเลขที่ 14805 และ 14806 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้คัดค้านให้แยกขาย การขายทอดตลาดจึงเป็นการชอบและเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามคำพิพากษาต่อโจทก์ถึงวันขายทอดตลาดเป็นเงิน 3,379,388.49 บาท เมื่อหักค่าธรรมเนียมการขายและส่วนของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ยังคงเป็นหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนองไว้ต่อโจทก์จากการขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 มาตรา 12(4)(ข) การที่โจทก์ประมูลซื้อที่ดินแปลงที่ 4 ถึงแปลงที่ 11 จึงเป็นการซื้อจากการขายทอดตลาดโดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า การขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีเฉพาะแปลงที่ 7 ถึงแปลงที่ 11 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกเป็นเหตุอ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 7 ถึงแปลงที่ 11 ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดินในขณะยึดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะราคาที่ดินในขณะขายทอดตลาดคือเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้มาก และการที่โจทก์ประมูลซื้อทรัพย์ได้และวางเงินเพียงร้อยละ 5 ไม่ถึงร้อยละ 25 ตามกฎหมายการขายทอดตลาดเป็นโมฆะนั้น ปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อ้างมาในคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปัญหาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ควรขายที่ดินที่ถูกยึดแปลงที่ 8 และแปลงที่ 9 กับแปลงที่ 10 และแปลงที่ 11รวมกัน เพราะถ้าแยกขายแปลงที่ 8 และแปลงที่ 9 จะทำให้เงินรายได้ในการขายเพิ่มขึ้นกว่าการขายรวมกัน และการขายแปลงที่ 10 กับแปลงที่ 11 รวมกันทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ขายเป็นเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละเท่าไร เพราะที่ดินแปลงที่ 10 มีชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่แปลงที่ 11 จำเลยที่ 3เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวเท่านั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ในวันขายทอดตลาดนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มาดูแลการขายด้วย และยังปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้คัดค้านการรวมขายที่ดินแปลงที่ 8 และแปลงที่ 9 กับแปลงที่ 10และแปลงที่ 11 แล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่บันทึกไว้และบอกให้ไปร้องขอต่อศาลเอง ดังนี้ กรณีเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ชอบที่จะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งชี้ขาดเสียภายใน 2 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคท้าย เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลเสียภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2และที่ 3 จะยกเป็นเหตุคัดค้านภายหลังไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ดังกล่าวนี้ให้เช่นกัน
ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่า โจทก์เป็นธนาคารไม่มีสิทธิประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด การกระทำของโจทก์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ย่อมมีสิทธิซื้อที่ดินซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้ไว้ต่อโจทก์จากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลเพื่อชำระหนี้โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 12(4)(ข) การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของโจทก์ ในครั้งนั้นเป็นการซื้อทรัพย์จำนองเป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีต่อโจทก์ และเป็นการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาล จึงเป็นการซื้อโดยชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share