คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4384/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วยและเมื่อวัตถุแห่งหนี้คือบ้านพร้อมที่ดินอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ แม้ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ก็ยังทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2532 โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 และที่ 2ในฐานะส่วนตัว และหรือในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท จำนวน 2 ฉบับคือฉบับที่ 1 เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 6743 เนื้อที่ประมาณ 51 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามผังก่อสร้างเลขที่ 4 เอฟ ในราคา1,000,000 บาท ชำระเงินบางส่วนในวันทำสัญญา 20,000 บาท ที่เหลืออีก980,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็น 10 งวด งวดละ 2,000 บาท และที่เหลืออีก960,000 บาท ชำระเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และฉบับที่ 2 เป็นสัญญาว่าจ้างตกแต่งอาคารเลขที่ 4 เอฟ ตามสัญญาฉบับที่ 1 ในราคา 590,000 บาท ได้จ่ายเงินมัดจำให้ผู้รับจ้างในวันทำสัญญาเป็นเงิน 80,000 บาท ที่เหลือ 510,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็น 10 งวด งวดละ 28,000 บาท ที่เหลืออีก 230,000 บาท ชำระเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสัญญาฉบับที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดการให้โจทก์ทำสัญญากับนายประดิษฐ์ ขวัญดี ผู้รับจ้างซึ่งเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาดังกล่าวต่อมาได้แยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 โจทก์ผ่อนชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและค่าว่าจ้างตามสัญญาทั้งสองฉบับจนครบ 10 งวดตามข้อตกลงแล้ว รวมเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์เตรียมเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง คือเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือแจ้งมายังโจทก์ว่า ก่อสร้างเสร็จตามสัญญาแล้ว ให้โจทก์นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระ แต่โจทก์ตรวจพบว่าสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเสร็จเรียบร้อยนั้นยังไม่เสร็จหลายประการ โจทก์จึงไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดการก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 31 มกราคม 2534 เพื่อโจทก์จะชำระราคาที่เหลือพร้อมกับรับโอนกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ยังก่อสร้างและตกแต่งไม่เสร็จเรียบร้อย โจทก์ยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องก่อสร้างและตกแต่งบ้านตามสัญญาให้แล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2534 ปรากฏว่าเมื่อวันที่30 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 3 โดยทุจริตโอนขายที่ดินรวม2 โฉนดอันมีที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับโจทก์รวมอยู่ด้วยให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคาเพียง 2,000,000 บาท เพื่อหลีกเลี่ยงไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์นิติกรรมโอนซื้อขายที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเพราะในปี 2532 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่226063 และสิ่งปลูกสร้างเพียงโฉนดเดียวในราคา 1,590,000 บาท แต่ขณะฟ้องมีราคาซื้อขายถึง 4,000,000 บาท หากรวมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งสองโฉนดตามที่จำเลยที่ 3ซื้อจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจะต้องมีราคาซื้อขายกันถึง 8,000,000 บาท พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันฉ้อฉลโจทก์มิให้โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้)อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 3เสียทั้งหมดโดยปราศจากภาวะติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 ตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในสภาพที่เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ตามสัญญาให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนทั้งนี้โจทก์ยอมชำระเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,190,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ในวันโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมในการโอนและไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้เรียบร้อยตามสัญญา โจทก์จะออกค่าธรรมเนียมและค่าก่อสร้างไปก่อน โดยให้ถือเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ออกไปนับแต่วันที่โจทก์ออกไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระคืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่อาจมีขึ้นได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ก็ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,441,539 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,400,000บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2534 โดยจำเลยที่ 3ไม่ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 รับโอนไปโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนการโอนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขออื่น และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 โดยปราศจากภาระติดพัน หากจำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 ตำบลหัวหมาก(หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างในสภาพที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ โดยให้โจทก์และจำเลยที่ 1 เสียค่าธรรมเนียมการโอนคนละครึ่ง ให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือ 1,190,000บาท แก่จำเลยที่ 1 ในวันโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมการโอนและไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างให้เรียบร้อยตามสัญญา และโจทก์ออกค่าธรรมเนียมการโอนและค่าก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้คืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ออกไปนับแต่วันที่โจทก์ออกไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระคืนแก่โจทก์เสร็จสิ้นหากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่อาจมีขึ้นได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน2,810,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2532 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหงตำบลหัวหมาก อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 51 ตารางวา ในราคา1,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1 และในวันเดียวกันโจทก์ทำสัญญาว่าจ้างตกแต่งต่อเติมอาคารดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 590,000 บาท โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้วเป็นเงิน 400,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก1,190,000 บาท ตามสัญญาทั้งสองฉบับกำหนดว่า ชำระเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเชิญโจทก์ไปขอสินเชื่อกับธนาคารและแจ้งด้วยว่าการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1มีหนังสือเชิญโจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดจำเลยที่ 1 ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้รับหนังสือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2533 ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ วันที่ 30 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายบ้านพร้อมที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 เป็นน้องของนางสาววราภรณ์ วชิรอังศนา นางสาววราภรณ์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 และเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 คดีมีปัญหาประการแรกว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ตามสัญญาทั้งสองฉบับที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 กำหนดชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,190,000 บาท ไว้ว่าชำระเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย โจทก์นำสืบว่า เมื่อได้รับหนังสือทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 โจทก์เตรียมเงินพร้อมที่จะชำระเงินส่วนที่เหลือแต่เมื่อไปตรวจสอบบ้านพิพาทปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังก่อสร้างบ้านพิพาทไม่เสร็จเรียบร้อยกล่าวคือผนังบ้านและตัวบ้านมีรอยแตกร้าวหลายแห่ง ใส่บานเกล็ดกระจกหน้าต่างไม่ครบ ท่อร้อยสายไฟฟ้าแตกไม่มีแผงไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้ายังไม่เรียบร้อยยังไม่ได้ติดตั้งสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ผนังบ้านบริเวณท่อส้วมเป็นรู งานทาสียังไม่เรียบร้อยตามภาพถ่ายหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 นำสืบว่า รอยแตกร้าวที่ผนังและตัวบ้านเป็นรอยแตกลายงาเล็ก ๆ บานเกล็ดกระจกหน้าต่างเข้าใจว่าหายไป ท่อร้อยสายไฟฟ้าแตกภายหลังจากเดินสายไฟฟ้าแล้ว มีแผงไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้าเรียบร้อย หากไม่เรียบร้อยการไฟฟ้านครหลวงคงไม่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าให้ รูที่เจาะไว้ในห้องน้ำเข้าใจว่าเป็นรูเพื่อติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ติดตั้งให้ ความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.3 เป็นความเสียหายเล็กน้อยจำเลยที่ 1 สามารถแก้ไขได้ภายใน 10 วัน ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ตรงตามสัญญาตลอดมารวมเป็นเงินที่ชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้วจำนวน 400,000 บาท ทั้งโจทก์ยังซื้อกระเบื้องสำหรับปูพื้นมาให้จำเลยที่ 1 ปูพื้นให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากสัญญา แสดงว่าโจทก์ต้องการซื้อบ้านพิพาทจริงและเมื่อโจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โจทก์ก็ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ก่อนสิ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนดกล่าวคือ โจทก์ได้รับหนังสือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2533 ปรากฏหลักฐานตามรายการใช้โทรศัพท์มือถือว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533 อันยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา15 วัน ที่จำเลยที่ 1 กำหนด โจทก์ติดต่อไปยังจำเลยที่ 1 ถึง 2 ครั้ง แสดงว่าโจทก์มิได้ละเลยเพิกเฉยแต่อย่างใด ทั้งนางสมรักษ์ คลังวิฑูรย์ ซึ่งอาศัยอยู่ห่างบ้านพิพาทประมาณ 100 เมตร และต้องเดินผ่านบ้านพิพาททุกวันเบิกความว่า ประมาณเดือนธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1 ยังก่อสร้างบ้านพิพาทไม่แล้วเสร็จพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 น่าเชื่อว่าภายในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านพิพาทแล้ว แต่เกิดความเสียหายขึ้นหลายแห่ง เช่น ผนังบ้านและตัวบ้านมีรอยแตกร้าวหลายแห่งใส่บานเกล็ดหน้าต่างไม่ครบ ท่อร้อยสายไฟฟ้าแตก ไม่มีแผงไฟฟ้า ยังเดินสายไฟฟ้าไม่เรียบร้อย ยังไม่ได้ติดตั้งสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ผนังบ้านบริเวณท่อส้วมเป็นรู งานทาสียังไม่เรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ความเสียหายดังกล่าวแต่ละแห่งจะมิใช่สาระสำคัญของบ้านก็ตาม แต่ความเสียหายดังกล่าวก็มีหลายแห่งจนถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1บอกเลิกสัญญาและนำบ้านพร้อมที่ดินพิพาทไปขายแก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา…

คดีมีปัญหาต่อไปว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 เพื่อจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้หรือไม่นางพัชรา หงษ์พงษินท์ ผู้จัดการฝ่ายนิติกรรมสัญญาของจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยที่ 3 ทราบว่าโจทก์ไม่ยอมรับโอนบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นน้องภรรยาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการในนามของจำเลยที่ 1 จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ก่อนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 226063 เพื่อจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเพียงบุคคลสิทธิ หาใช่ทรัพยสิทธิ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ไม่ได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนี้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า การเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ แต่จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น เห็นว่า วัตถุแห่งหนี้ในคดีนี้คือบ้านพร้อมที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ ดังนี้แม้จำเลยที่ 1 จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ก็ยังทำให้โจทก์เสียเปรียบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share