คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4384/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน วิธีปฏิบัติงานของโจทก์ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วย ดังนี้ หาใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดแก่โจทก์เพียงประการเดียวไม่ การปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามมาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 นอกจากมีหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการทำไม้ของกลางแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ไปตรวจดูแลไม้ของกลางที่ว่าจ้าง ป. เฝ้ารักษาไม่ให้เสียหายจนกว่าจะขายได้ด้วย ดังนั้น เมื่อไม้ของกลางดังกล่าวสูญหาย แม้โจทก์จะปรับ ป.ไปแล้วตามสัญญา ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดไม่ ป.ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ว่า จะชำระเงินให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้บางส่วนโดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องป. ให้รับผิด เมื่อ ป. ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยโดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีเสียก่อน โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติผิดข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน วิธีปฏิบัติงาน และไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ดังนี้เป็นเรื่องความรับผิดของจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยคนใดคนหนึ่งทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก และจำเลยทั้งสองยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291การที่โจทก์สั่งให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายคนละกึ่งหนึ่งเป็นเรื่องโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เท่านั้น หากจำเลยคนหนึ่งคนใดยินยอมชำระให้กึ่งหนึ่ง โจทก์ก็อาจพิจารณาไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยผู้ชำระหนี้นั้นต่อไป แต่ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับตามมาตรา 291 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์ลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับของโจทก์ ฉบับที่ 7 ว่าด้วยวินัยการสอบสวน และการลงโทษสำหรับพนักงานและคนงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หาเป็นเหตุลบล้างสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่สุจริต เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ใช้เงิน 339,087 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง ไม้ของโจทก์ที่สูญหายไปอยู่ในความดูแลของนายปริยะตามสัญญาว่าจ้าง นายปริยะได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมเสียค่าปรับแก่โจทก์แล้ว โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องจากนายปริยะ คดีขาดอายุความละเมิดแล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อ 4ว่า ความรับผิดฐานละเมิดกับความรับผิดฐานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น และนับแต่วันที่เกิดเหตุถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความข้อหาละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติงานของโจทก์อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วยกรณีหาใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์เพียงประการเดียวไม่ การปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามมาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้สิบปี คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ตามข้อ 5 ว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาไม้ของกลางแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างนายปริยะเมฆฉ่ำ เป็นผู้เฝ้ารักษาโดยได้รับค่าจ้าง หากไม้สูญหายนายปริยะ เมฆฉ่ำ ต้องชดใช้ค่าปรับ ดังนั้น นายปริยะ เมฆฉ่ำจึงเป็นผู้ครอบครองและเป็นผู้รับผิดชอบไม้ทั้งหมด เมื่อไม้สูญหายไปแล้วโจทก์ได้ปรับนายปริยะ เมฆฉ่ำ โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 ต่อมาก็ได้มีการชำระค่าปรับบางส่วนจำนวน 50,000 บาท สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับ ศาลฎีกาเห็นว่า ไม้ของกลางรายนี้เป็นของโจทก์และตามคำสั่งฝ่ายทำไม้ภาคตะวันตกและภาคใต้ ที่ 126/2526 เรื่องกำหนดหน้าที่และย้ายพนักงานภายในส่วนทำไม้สุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2526 เอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำฟ้องกำหนดไว้ในหน้า 3 งานทำไม้สุราษฎร์ธานี ลำดับ 10 นายอำนวย มธุโรรสจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้างานทำไม้สุราษฎร์ธานี และลำดับที่ 11นายเอิบ ชูกำเนิด จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานประจำป่า ควบคุมและรับผิดชอบการทำไม้ของกลาง ป่านอกโครงการ หมอนไม้บ้านควนเทพท้องที่อำเภอเมืองปะทิว ท่าแซะและอำเภอสวี จังหวัดชุมพรดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2ซึ่งต้องมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับของโจทก์ และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายมงคล แก้วแสงอ่อน พยานโจทก์ว่า การว่าจ้างให้บุคคลภายนอกเฝ้ารักษาไม้ของกลางนั้นตามระเบียบของโจทก์ผู้ว่าจ้างต้องไปตรวจดูแลไม่ให้เสียหายจนกว่าจะขายได้ นายมงคล แก้วแสงอ่อน มีหน้าที่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าต้องรู้ระเบียบเป็นอย่างดีดังนั้น การที่นายปริยะ เมฆฉ่ำ ชำระค่าปรับจำนวน 50,000 บาทไว้แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิดชอบไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าตามหนังสือรับสภาพหนี้ของนายปริยะ เมฆฉ่ำได้ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้บางส่วนโดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องนายปริยะ เมฆฉ่ำ ให้รับผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักชำระเป็นดอกเบี้ยไว้ก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อนายปริยะเมฆฉ่ำ ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดซึ่งตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยโดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีเสียก่อนสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยหาเกิดจากการที่จะต้องฟ้องคดีเสียก่อนดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า ตามคำสั่งขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 217/2529 เรื่อง ให้ตัดเงินเดือนนายเอิบ ชูกำเนิด และนายอำนวย มธุโรรส ในตอนท้ายของข้อ 1มีความว่า หากโจทก์ไม่สามารถเรียกชดใช้ค่าเสียหายจากผู้รับจ้างได้หรือขาดจำนวนไปเท่าใด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้คืนให้แก่โจทก์คนละกึ่งหนึ่งด้วย แต่ตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 339,087 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของโจทก์ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ตั้งข้อหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติผิดต่อข้อบังคับ ระเบียบคำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติงานและไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยคนหนึ่งคนใดทั้งหมดหรือโดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก และจำเลยทั้งสองยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 การที่โจทก์สั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายคนละกึ่งหนึ่งนั้นเป็นเรื่องโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เท่านั้น หากจำเลยคนหนึ่งคนใดยินยอมชำระให้กึ่งหนึ่งตามคำสั่งดังกล่าว โจทก์ก็อาจพิจารณาไม่ดำเนินคดีกับจำเลยผู้ชำระหนี้นั้นต่อไป แต่เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระก็หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา291 ไม่ กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่า ความรับผิดในข้อหาละเมิดกับข้อหาผิดสัญญาจ้างแรงงานแตกต่างกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในเรื่องละเมิดโดยตรง จะนำอายุความในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมีระยะยาวกว่ามาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีคดีจึงขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติงานของโจทก์อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งอ้างว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย กรณีหาใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์เพียงประการเดียวไม่ และการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามมาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้สิบปี จะนำอายุความในเรื่องละเมิดมาใช้บังคับแต่เพียงประการเดียวมิได้ กรณีต้องใช้อายุความสิบปีดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าเมื่อโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ลงโทษด้วยการตัดเงินเดือนไปแล้วก็ย่อมเป็นอันยุติ โจทก์ไม่อาจเรียกร้องในคดีนี้ได้ เห็นว่าการที่โจทก์ลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดวินัยตามข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฉบับที่ 7 ว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับพนักงานและคนงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หาเป็นเหตุลบล้างสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งมีอยู่ตามกฎหมายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้”
พิพากษายืน

Share