คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4383/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินแต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือ จึงเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย ย่อมโอนได้ด้วยการส่งมอบ ไม่จำต้องสลักหลัง หากมีการสลักหลังเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 บัญญัติว่าเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่ การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเรียกเก็บเงินผ่านบัญชีของผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์หรือโอนเช็คพิพาทไป เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้เช็คพิพาทกลับมาอยู่ในความยึดถือครอบครอง โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ไม่อยู่ในฐานะผู้สลักหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่ใช่กรณีที่จะบังคับตามมาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ผู้สลักหลังถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็ค ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริต หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรงเช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะยื่นฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คหลายฉบับรวมทั้งเช็คพิพาท5 ฉบับ ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นของโจทก์ที่มีอยู่ในบริษัทโรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ จำกัด เมื่อเช็คทั้งห้าฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเข้าบัญชีของผู้มีชื่อซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 155,056.07 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย2,647,231.07 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,647,231.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,492,175 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 2,492,175 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2540ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 500,000 บาทนับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2540 ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน2540 และของต้นเงิน 492,175 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2541) ต้องไม่เกิน 155,056.07บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งห้าฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไประบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินแต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือ โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งห้าฉบับ เช็คพิพาททั้งห้าฉบับถูกนำเข้าบัญชีของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาททั้งห้าฉบับระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินแต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือ ดังนั้นเช็คพิพาททั้งห้าฉบับจึงเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย ย่อมโอนได้ด้วยการส่งมอบไม่จำเป็นต้องสลักหลังหากมีการสลักหลังเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 จึงบัญญัติว่า เป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่ ดังนั้น การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาททั้งห้าฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเรียกเก็บเงินผ่านบัญชีของผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง หรือโอนเช็คพิพาททั้งห้าฉบับไปตามที่จำเลยอ้าง เมื่อเช็คพิพาททั้งห้าฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้เช็คพิพาทกลับมาอยู่ในความยึดถือครอบครอง โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ไม่อยู่ในฐานะผู้สลักหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่ใช่กรณีที่จะบังคับตามมาตรา 1003ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน คดีไม่ขาดอายุความส่วนที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คมิได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริตหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรงเช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ ดังนั้น โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งห้าฉบับขณะยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share