คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โรงเรือนพิพาทเดิมเป็นของ ท. โดย ท. เช่าที่ดินของ บ. เพื่อปลูกโรงเรือนพิพาทดังกล่าว ต่อมาปี 2530 บ.ยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้ ล. ต่อมา ล. ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลง ทำให้โรงเรือนพิพาทอยู่บนที่ดินสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นปี 2533 จำเลยซื้อโรงเรือนพิพาทมาจาก ท. หลังจากนั้นปี 2537 ล. ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 แก่โจทก์กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยซื้อเฉพาะโรงเรือนพิพาทจาก ท. แม้การซื้อขายจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะโรงเรือนพิพาทเท่านั้น หามีสิทธิในที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนไม่ และเป็นเรื่องที่จำเลยมีโรงเรือนส่วนหนึ่งในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิและแม้จำเลยจะเช่าที่ดินของ ล. ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ และโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 จำนวนเนื้อที่ 84 ตารางวา จากนางสาวลัดดา สุวรรณแสง ภายหลังโจทก์ทั้งสองให้เจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดสอบเขต ปรากฏว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ทั้งสองประมาณ 2.50 เมตร ยาวไปตามแนวเขตที่ดินประมาณ 10 เมตรโดยไม่สุจริต โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์ทั้งสอง จำเลยรับหนังสือแล้วเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์ทั้งสองจำเป็นต้องใช้ที่ดินปลูกสร้างบ้าน ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดประโยชน์จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเดือนละ 4,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำออกไป ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่ยอมรื้อถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำเสร็จเรียบร้อย

จำเลยให้การว่า เดิมโรงเรือนเลขที่ 50/5 หมู่ที่ 3 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองสุขบัวเนียม โดยเช่าที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 19468 ของนางบุญส่ง สุวรรณแสงต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2530 นางบุญส่ง ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 19468 ให้แก่นางสาวลัดดา สุวรรณแสง ในปี 2532 นางสาวลัดดาแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลง ทำให้บ้านของนายทองสุขอยู่บนที่ดิน 2 แปลง คือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2533 นายทองสุขขายบ้านเลขที่50/5 ให้จำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยได้เช่าที่ดินปลูกบ้านจากนางสาวลัดดา ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 จากนางสาวลัดดา โดยรู้อยู่แล้วว่ามีโรงเรือนบางส่วนของจำเลยอยู่บนที่ดินที่จะซื้อ โจทก์ทั้งสองจึงใช้สิทธิไม่สุจริต เมื่อจำเลยรับโอนโรงเรือนมาโดยสุจริตก่อนโจทก์ทั้งสองจะซื้อที่ดินจากนางสาวลัดดา โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนโรงเรือนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ทั้งสอง ส่วนค่าเสียหายโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย เพราะโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองสละประเด็นในเรื่องค่าเสียหายศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดเลขที่ 62023 คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำฟ้องและคำให้การว่า โรงเรือนพิพาทเดิมเป็นของนายทองสุข บัวเนียม โดยนายทองสุขเช่าที่ดินของนางบุญส่ง สุวรรณแสง เพื่อปลูกโรงเรือนพิพาทดังกล่าว ต่อมาปี 2530 นางบุญส่งยกที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงให้นางสาวลัดดา สุวรรณแสง นางสาวลัดดาได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลงทำให้โรงเรือนพิพาทอยู่บนที่ดินสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 6204 และ 62023 ครั้นปี 2533 จำเลยซื้อโรงเรือนพิพาทมาจากนายทองสุข หลังจากนั้นปี 2537 นางสาวลัดดาได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 62023 แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนี้ เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องจำเลยซื้อเฉพาะโรงเรือนพิพาทจากนายทองสุขแม้การซื้อขายจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะโรงเรือนพิพาทเท่านั้นหามีสิทธิในที่ดินซึ่งปลูกโรงเรือนไม่ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีโรงเรือนส่วนหนึ่งในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีสิทธิ และแม้จำเลยจะเช่าที่ดินของนางสาวลัดดาซึ่งเป็นเจ้าของเดิมก็ตาม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของบุคคลอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ดังที่จำเลยฎีกาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

พิพากษายืน

Share