คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4383/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อกรณีเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ นายจ้างได้แจ้งการปิดงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามกฎหมายแล้ว แม้นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าทำงานในช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงที่ประกาศแจ้งล่วงหน้า แต่ก็ได้จ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ถือได้ว่าคงมีการทำงานอยู่จนถึงกำหนดวันเวลาที่แจ้งให้การปิดงานมีผล มิใช่เป็นการปิดงานนับแต่วันเวลาที่แจ้ง จึงเป็นการปิดงานโดยชอบด้วยกฎหมายลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในระหว่างที่มีการปิดงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปิดงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างปิดงาน ขอให้จ่ายค่าจ้างจำนวนหกแสนบาทเศษพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าปิดงานชอบแล้วศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าค เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2530 สหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าค ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ครั้นวันที่ 30 ตุลาคม 2530จำเลยได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าคเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเช่นกัน สหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าคและจำเลยได้เจรจาข้อเรียกร้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันได้ สหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าคจึงแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยแล้ว คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2531 สหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าคจึงแจ้งวันนัดหยุดงานให้จำเลยทราบล่วงหน้าวันเดียวกันนั้นเองเวลา 16.20 นาฬิกา จำเลยแจ้งวันปิดงานให้สหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าคทราบล่วงหน้า พร้อมกับประกาศให้ลูกจ้างทราบว่า จำเลยจะปิดงานในวันที่ 19 มกราคม 2531 เวลา 16.30 นาฬิกาซึ่งเป็นวันเวลาที่การแจ้งปิดงานของจำเลยครบกำหนดยี่สิบสี่ชั่วโมงตามกฎหมาย แต่จำเลยมิให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม2531 เวลา 16.20 นาฬิกาเป็นต้นไป โดยจ่ายค่าจ้างในระหว่างวันที่18 มกราคม 2531 เวลา 16.20 นาฬิกา ถึงวันที่ 19 มกราคม 2531เวลา 16.45 นาฬิกา ให้แก่ลูกจ้าง จำเลยได้ปิดงานติดต่อกันจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 จึงเปิดงานตามปกติ ศาลฎีกาเห็นว่าการปิดงานนั้นย่อมเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้ายซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง” มีเจตนาเพียงที่จะป้องกันมิให้นายจ้างปิดงานอย่างกะทันหัน โดยลูกจ้างไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างและก่อความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากขาดรายได้ในการครองชีพ คดีนี้จำเลยได้แจ้งการปิดงานให้สหภาพแรงงานคิมเบอร์ลี่ย์คล๊าคซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกทราบล่วงหน้าตามกฎหมายแล้ว แม้ว่าจำเลยจะไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าทำงานในช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงที่ประกาศแจ้งล่วงหน้า แต่จำเลยก็ได้จ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกคน ถือได้ว่าคงมีการทำงานอยู่จนถึงเวลา 16.20 นาฬิกา ของวันที่ 19มกราคม 2531 กรณีหาใช่เป็นการปิดงานตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม2531 เวลา 16.20 นาฬิกาเป็นต้นมาดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ เมื่อครบกำหนดเวลาที่แจ้งล่วงหน้าให้ทราบแล้ว ต่อจากนั้นจำเลยจึงเริ่มปิดงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปิดงานโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34วรรคท้าย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในระหว่างที่จำเลยปิดงาน”
พิพากษายืน

Share