คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4378/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานเดินหมายปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับปิดหมายนัดสืบพยานโจทก์ไว้ที่บ้าน ซึ่งมีชื่อจำเลยในทะเบียนบ้านตามคำสั่งศาลบ้านนั้นยังเป็นของสามีจำเลย และจำเลยยอมรับในอุทธรณ์ว่าบ้านดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของจำเลย ดังนี้ เป็นการส่งหมายชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 (2) และมาตรา 79 เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดและไม่ได้มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจึงไม่มีเหตุที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่มต่าง ๆ แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๐๕,๙๐๘.๐๘ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน ของต้นเงินอากรขาเข้า ๓๓,๒๒๐.๙๒ บาท คิดเป็นเดือนละ ๓๓๒.๒๑ บาท เป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลภาษีอากรกลางไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีนี้เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยแล้ว ศาลภาษีอากรกลางได้ให้พนักงานเดินหมายนำหมายเรียกคดีแห่งสามัญและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ ๖๗๐/๓๖ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้อง พนักงานเดินหมายกลับมารายงานว่าส่งไม่ได้เพราะจำเลยย้ายไปนานแล้ว โจทก์ได้แถลงขอสืบหาที่อยู่ของจำเลย ต่อมาโจทก์ได้แสดงหลักฐานภูมิลำเนาของจำเลยตามสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านที่โจทก์ส่งศาลภาษีอากรกลางพร้อมกับขอให้ส่งหมายเรียกคดีแพ่งสามัญและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในทะเบียนบ้านดังกล่าว หากส่งไม่ได้โดยชอบขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แทน พนักงานเดินหมายศาลภาษีอากรกลางได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยใหม่ตามภูมิลำเนาในฟ้อง แต่ไม่มีผู้รับแทนโดยชอบ จึงได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ ที่นั้น การที่โจทก์แสดงภาพถ่ายทะเบียนบ้านซึ่งผู้ช่วยนายทะเบียนเขตพญาไทรับรองว่าถูกต้องโดยยังมีชื่อจำเลยปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน ย่อมเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นที่อยู่ของจำเลยที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยย้ายไปอยู่บ้านเลขที่ ๙๖/๓๐ – ๓๑ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ แต่จำเลยก็รับว่ามิได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านออกจากบ้านเลขที่ ๖๗๐/๓๖ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ไปเข้าอยู่บ้านดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ้านเลขที่ ๖๗๐/๓๖ นี้ ยังเป็นของนายสมเกียรติ นามวิถี สามีของจำเลย และในขณะที่พนักงานเดินหมายไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องก็มีคนอยู่ในบ้าน จำเลยเองก็ยอมรับในอุทธรณ์ของจำเลยว่า ภูมิลำเนาของจำเลยคือบ้านเลขที่ ๖๗๐/๓๖ และบ้านเลขที่ ๙๖/๓๐ – ๓๑ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ใช้บ้านเรือนตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านเป็นที่อยู่ต่อไปแล้ว การที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกันไป ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕ ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนา ดังนั้นบ้านเลขที่ ๖๗๐/๓๖ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านย่อมเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของจำเลย การที่พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาล จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๔ (๒) และมาตรา ๗๙ แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดและไม่ได้มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ไม่มีเหตุที่จะขอให้พิจารณาใหม่ได้
พิพากษายืน

Share