แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ขอลาหยุดงาน 3 วัน จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่อนุญาตโจทก์จึงหยุดงานไป 4 วัน เพื่อเดิน ทางไปจัดเตรียมงานสมรสของบุตรที่ต่างจังหวัดตามประเพณีของท้องถิ่น ดังนี้ เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควร กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชย การละทิ้งการงานของลูกจ้างอันเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ไม่จำต้องมีเหตุอันสมควรหรือไม่เมื่อโจทก์ขอลาหยุด แต่จำเลยไม่อนุญาต การที่โจทก์หยุดงานไปจึงเป็นการลาที่ไม่ชอบ ทั้งเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานตามป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่รวม 4 วัน อันเป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 8 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกมีว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 4 วันทำงานติดต่อกัน โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าการจัดงานสมรสตามประเพณีท้องถิ่นไม่ใช่เหตุอันสมควรเพียงพอ เนื่องจากโจทก์หยุดงานถึง 4 วันซึ่งเกินความจำเป็นจึงถือได้ว่าโจทก์กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ขอลาหยุดงานต่อจำเลยตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2530 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม2530 จำเลยไม่อนุญาต แต่โจทก์ก็ได้หยุดงานไปตามวันดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2530 โจทก์โทรศัพท์มาขอลาต่ออีก 1 วัน การหยุดงานของโจทก์เพื่อไปจัดงานสมรสบุตรสาวของโจทก์ ซึ่งต้องมีการเตรียมงานตามประเพณีของท้องถิ่น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 กำหนดว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ฯลฯ” ดังนี้ การที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน หากไม่มีกรณีที่มีเหตุอันสมควรแล้ว นายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ สำหรับกรณีของโจทก์ได้ความว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องไปจัดและเตรียมงานสมรสนางสาววาสนา สุภาพ บุตรของโจทก์ กับสิบตำรวจตรีดิเรก เพิ่มเติมที่บ้านเลขที่ 74/1 หมู่ 4 ซอยสวนสมเด็จ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบริษัทจำเลยอันเป็นที่ทำงานของโจทก์ การหยุดงานของโจทก์เป็นความจำเป็นที่จะเตรียมงานสมรสดังกล่าว ดังนี้ การหยุดงานหรือการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควร กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 47(4) ของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้หยุดงานและได้ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเกินสามวันโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประกาศอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกได้มิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” เห็นได้ว่า การละทิ้งการงานของลูกจ้างอันเป็นเหตุที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น มิได้มีข้อจำกัดว่าต้องมีเหตุอันสมควรหรือไม่ และข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า การที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาหยุดและจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาหยุดได้ การที่โจทก์หยุดงานไปจึงเป็นการลาที่ไม่ชอบ (ซึ่งหมายถึงการลาที่ขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 5.3 เอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำให้การ) ดังนั้นการหยุดงานของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา583 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยได้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”.