คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยให้มีผลนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 ถือได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการฯ ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ก็หามีข้อจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลไม่ จึงถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกพักงานและถูกเลิกจ้างจนถึงเวลาที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่ กสท. ที่ 51317/2542 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2542 พร้อมให้โจทก์เข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ควรได้รับทั้งหมดและค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์นั้นจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นไว้แล้วซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รอวินิจฉัยพร้อมคำพิพากษา (ที่ถูกคือศาลแรงงานกลางสั่งว่าให้รอไว้สั่งในนัดหน้าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544) แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยให้มีผลนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 ถือได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการฯ ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ก็หามีข้อจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลไม่ จึงถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่องแล้วจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกพักงานและถูกเลิกจ้างจนถึงเวลาที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเลิกจ้างโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share