คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4358/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยจำเลยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี2519ถึง2523ต่อโจทก์แสดงรายรับไม่ถูกต้องซึ่งผลการตรวจสอบจำเลยจะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี2520ถึงปี2523รวม4ปีเพิ่มอีกเป็นเงิน237,842.08บาทการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเมื่อวันที่20ธันวาคม2525และส่งแบบแจ้งภาษีเงินได้ที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม(ภ.ง.ด.11)ไปให้จำเลยณถิ่นที่อยู่ของจำเลยโดยวิธีปิดใบแจ้งเมื่อวันที่22พฤษภาคม2526จึงเป็นการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ปฎิบัติตามประมวลรัษฎากรมาตรา8,18และ20ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วหากไม่มีการอุทธรณ์การประเมินเจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจหน้าที่บังคับตามประมวลรัษฎากรมาตรา18ตรีต่อไปคือผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องชำระภาษีนั้นภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินถ้าไม่ชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดดังกล่าวก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา27และเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วถ้ามิได้เสียภาษีหรือนำส่งให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้างซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้มีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีหรือนำส่งภาษีโดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา12 การออกหนังสือแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มไปยังบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดผลบังคับในการจัดเก็บภาษีแม้จำเลยได้ทำบันทึกในคำให้การและบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีเมื่อวันที่20ธันวาคม2525ว่าจำเลยยอมชำระภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยชำระเพิ่มโดยไม่โต้แย้งหรืออุทธรณ์ใดๆทั้งสิ้นซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่20ธันวาคม2525แต่การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งการประเมินภาษีที่จำเลยต้องชำระเพิ่มไปให้จำเลยทราบโดยปิดหนังสือแจ้งเมื่อวันที่22พฤษภาคม2526ซึ่งเป็นการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดผลบังคับในการจัดเก็บภาษีก็ถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีให้ชำระภาษีที่ต้องชำระเพิ่มภายในกำหนด10ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่เมื่อวันที่20ธันวาคม2525ซึ่งเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/14(5)และเริ่มนับอายุความใหม่อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่วันที่22พฤษภาคม2526เช่นกันซึ่งครบกำหนด10ปีในวันที่22พฤษภาคม2536ซึ่งตรงกับวันเสาร์หยุดราชการโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเมื่อวันจันทร์ที่24พฤษภาคม2536ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มเปิดทำงานใหม่ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/31กรณีหาใช่ว่าเมื่อจำเลยยอมรับสภาพหนี้แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ต่อจำเลยอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนและไม่มีผลบังคับแก่จำเลยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมกับเงินเพิ่มสำหรับปี 2522 เป็นเงิน 153,794.28 บาท และปี 2523 เป็นเงิน72,403 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 226,197.28 บาท จำเลยรับแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2526 แต่จำเลยไม่ชำระและไม่ได้อุทธรณ์การประเมิน โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยให้ชำระภาษีจำนวนดังกล่าว 2 ครั้งแล้ว มีระยะเวลาห่างกันเกิน 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระ และจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่โจทก์จะยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทำข้อตกลงยินยอมชำระหนี้ภาษีอากรโดยไม่โต้แย้งหรืออุทธรณ์ใด ๆ ต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2525 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24พฤษภาคม 2536 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี จึงไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างและรับจ้างทำของเมื่อปี 2525 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้วิเคราะห์แบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของจำเลยในปี 2519 ถึงปี 2523 พบว่าจำเลยแสดงรายรับในระหว่างปีดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงหมายเรียกจำเลยให้มาพบและนำบัญชีกับเอกสารมาตรวจสอบ จำเลยมาพบตามหมายเรียก แต่ไม่นำบัญชีกับเอกสารมาให้ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้ประเมินให้จำเลยเสียภาษีเพิ่มจำเลยไม่ยอม และขอนำหลักฐานมาแสดงให้ประเมินใหม่ตามคำให้การเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 20ธันวาคม 2525 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้เรียกจำเลยมาพบอีกจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มสำหรับปี 2520ถึงปี 2523 รวมสี่ปี เป็นเงิน 237,842.08 บาท จำเลยยอมรับตามคำให้การเอกสารหมาย จ.4 และข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีอากรเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาเดือนธันวาคม 2525 นายอรรถ เกื้อกูลวงศ์ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยให้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มสำหรับปี 2522และปี 2523 รวม 2 ปี เป็นเงิน 226,197.28 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เจ้าพนักงานของโจทก์นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้จำเลยยังถิ่นที่อยู่ของจำเลยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2526 โดยปิดไว้ ณ ที่อยู่ของจำเลยตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.8 ครบกำหนดจำเลยไม่ชำระภาษีแก่โจทก์ เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยปรากฎว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ และมีหนังสือเตือนจำเลยให้ชำระภาษีอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2530 จำเลยรับเมื่อวันที่9 กุมภาพันธ์ 2530 และวันที่ 20 มีนาคม 2530 ตามลำดับ ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.12 แต่จำเลยไม่ชำระ
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31หรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจำเลยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2519 ถึง 2523ต่อโจทก์ แสดงรายรับไม่ถูกต้อง ซึ่งผลการตรวจสอบจำเลยจะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2520 ถึงปี 2523 รวม 4 ปีเพิ่มอีกเป็นเงิน 237,842.08 บาท การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 และส่งแบบแจ้งภาษีเงินได้ที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม (ภ.ง.ด.11) ไปให้จำเลย ณ ถิ่นที่อยู่ของจำเลย โดยวิธีปิดใบแจ้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2526จึงเป็นการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ปฎิบัติตามประมวลรัษฎากรมาตรา 8, 18 และ 20 ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว หากไม่มีการอุทธรณ์การประเมิน เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจหน้าที่บังคับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ตรี ต่อไป คือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องชำระภาษีนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินถ้าไม่ชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดดังกล่าวก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 และเมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียภาษีหรือนำส่งให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้มีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีหรือนำส่งภาษีโดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 12 จะเห็นได้ว่าการออกหนังสือแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มไปยังบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรดังกล่าวข้างต้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดผลบังคับในการจัดเก็บภาษี คดีนี้แม้จำเลยได้ทำบันทึกในคำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ว่า จำเลยยอมชำระภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้จำเลยชำระเพิ่ม โดยไม่โต้แย้งหรืออุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้นซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 20ธันวาคม 2525 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยก็ตาม แต่ศาลฎีกายังเห็นต่อไปอีกว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์แจ้งการประเมินภาษีที่จำเลยต้องชำระเพิ่มไปให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 โดยปิดหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 22พฤษภาคม 2526 ตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งเป็นการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้เกิดผลบังคับในการจัดเก็บภาษีดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ก็ถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีให้ชำระภาษีที่ต้องชำระเพิ่มภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ซึ่งเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) และเริ่มนับอายุความใหม่อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม2526 เช่นกัน ซึ่งครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2536ซึ่งตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มเปิดทำการใหม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 กรณีหาใช่ว่าเมื่อจำเลยยอมรับสภาพหนี้แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้ต่อจำเลยอีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนและไม่มีผลบังคับแก่จำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อปรากฎว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทเศษ และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยไม่สืบพยานโต้แย้ง ฟังได้ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ และโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) (9) ทั้งคดีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย เช่นนี้ก็ชอบที่จะพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

Share