แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินภายในแนวเขตหวงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน โจทก์ปลูกต้นกล้วยไว้ในที่ดินพิพาท ต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุกไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์จึงเป็นเจ้าของต้นกล้วยเหล่านั้นจำเลยที่ 5 เข้าไปไถที่พิพาททั้ง ๆ ที่รู้แล้วว่าต้นกล้วยที่ปลูกอยู่ในที่พิพาทเป็นของโจทก์ ทำให้ต้นกล้วยเสียหาย จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกอีกหลายคนร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกระทง กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 โดยคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ทำถนนบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้ต้นกล้วยขาดเสียหายไร้ประโยชน์จำนวน50 ต้น คิดเป็นเงิน 1,250 บาท พืชผลดังกล่าวเป็นพืชผลของโจทก์ผู้มีอาชีพกสิกรรม และจำเลยที่ 3 โดยคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จ้างผู้มีชื่อหลายคนรื้อถอนทำลายเสารั้วและลวดหนามเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งหมด แล้วลงหลักปักเสาล้อมที่ดินของโจทก์เพื่อยึดถือเอาเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363, 365, 358, 359, 83, 84, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่ามีมูลข้อหาทำให้เสียทรัพย์ให้ประทับฟ้อง ส่วนข้อหาบุกรุกให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องในข้อหาความผิดฐานบุกรุกด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 4หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 ปรับคนละ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาบุกรุกและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทนายจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2533 ปรากฏตามมรณบัตรท้ายคำร้อง โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทที่โจทก์ครอบครองเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินภายในแนวเขตหวงห้ามตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหคีรี อำเภอโกรกพระจังหวัดนครสวรรค์ พุทธศักราช 2479 แต่ยังฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทนั้นเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ก่อน พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับหรือไม่ โจทก์ได้ปลูกต้นกล้วย 50 ต้นไว้ในที่พิพาทต้นกล้วยเป็นต้นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์จึงเป็นเจ้าของต้นกล้วยเหล่านั้นจำเลยที่ 5 เข้าไปไถที่พิพาททั้ง ๆ ที่รู้แล้วว่าต้นกล้วยที่ปลูกอยู่ในที่พิพาทเป็นของโจทก์ทำให้ต้นกล้วยอันเป็นทรัพย์ของโจทก์เสียหาย จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
พิพากษายืน