คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4353/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ. ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ช่วยเก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้ให้ เป็นเงิน 2,000,000 บาท หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน พ. โทรศัพท์หาจำเลยที่ 3 บอกว่า มีเมทแอมเฟตามีนอีก 1 ล็อต ช่วยเก็บรักษาไว้ให้ด้วย โดย พ. จะจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้อีก 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,000,000 บาท กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 รับฝากเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจาก พ. ต่างกรรมต่างวาระกัน โดยจำเลยที่ 3 ได้รับค่าตอบแทนการรับฝากเพิ่มจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้สถานที่ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนก็ต่างสถานที่กัน ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาในการมีไว้ในครอบครองเมทแอมเฟตามีนสองจำนวนดังกล่าวแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระตาม ป.อ. มาตรา 91 จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายรวมสองกรรม
การลงโทษผู้กระทำความผิดให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 เป็นการให้อำนาจแก่ศาลในการใช้ดุลพินิจลงโทษมิใช่บทบังคับแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและถังใส่น้ำแข็งจำนวน 3 ใบ ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) ประกอบมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง ริบเมทแอมเฟตามีนและถังใส่น้ำแข็งจำนวน 3 ใบ ของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่จำเลยที่ 3 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จึงให้จำคุกจำเลยที่ 3 รวม 2 กระทง กระทงละตลอดชีวิต และปรับกระทงละ 5,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกกระทงละ 25 ปี และปรับกระทงละ 2,500,000 บาท รวมจำคุก 50 ปี และปรับ 5,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง พันตำรวจตรีสรกฤช จ่าสิบตำรวจอนนท์ กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ได้ร่วมกันตรวจค้นบ้านเลขที่ 512/272 และบ้านเลขที่ 512/281 หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พบเงินสดจำนวน 3,000,000 บาท ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าสีดำมีหูหิ้วและพบสัญญากู้ยืมเงินกับโฉนดที่ดินจำนวนมากบรรจุอยู่ในกระเป๋าเอกสารเก็บอยู่ภายในห้องเก็บของบ้านเลขที่ 512/272 ตรวจยึดบัญชีรายการเอกสารและทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ และตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในห้องเก็บของบ้านเลขที่ 512/281 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 512/281 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าเงินสด เอกสารต่าง ๆ และเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ จากนั้นได้นำตัวจำเลยที่ 3 ไป ตรวจค้นบ้านเลขที่ 202/43 หมู่บ้านผาสุข แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ภายในห้องเก็บของจำนวน 1,300,000 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนที่แตกหักอีก 1 ถุง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ อ้างว่าเป็นเพียงผู้พักอาศัยในบ้านเลขที่ 512/281 มีหน้าที่ดูแลบ้านหลังดังกล่าวและหลังอื่น ๆ ให้จำเลยที่ 3 โดยได้รับค่าตอบแทน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ผลการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดให้โทษพบว่าเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีนและเป็นอนุพันธ์แอมเฟตามีน โดยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 983.175 กรัม เมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,300,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 24,583.845 กรัม และเมทแอมเฟตามีนที่แตกหัก 1 ถุง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 110.603 กรัม
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประเด็นแรกว่า การที่จำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันค้นพบได้ในบ้านเลขที่ 512/281 จำนวน 50,000 เม็ด จำนวนหนึ่งและมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันค้นพบได้ในบ้านเลขที่ 202/43 จำนวน 1,300,000 เม็ด กับส่วนที่แตกหักอีก 1 ถุง อีกจำนวนหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือสองกรรม เห็นว่า แม้ว่าผู้ฝากเมทแอมเฟตามีนและผู้รับฝากเป็นรายเดียวกัน บ้านที่เก็บเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 หลัง จะเป็นเจ้าของเดียวกัน และเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนดังกล่าวจะมีสภาพและบรรจุหีบห่อที่เหมือนกันไม่ปรากฏข้อแตกต่างตามที่จำเลยที่ 3 ได้ฎีกามาก็ตาม แต่ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนในบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 3 ว่า เมื่อต้นปี 2546 นางพิมไม่ทราบนามสกุลขอร้องให้จำเลยที่ 3 ช่วยเก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้ให้ โดยนางพิมได้ว่าจ้างเป็นเงิน 2,000,000 บาท หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน นางพิมได้โทรศัพท์หาจำเลยที่ 3 บอกว่า มีเมทแอมเฟตามีนอีก 1 ล็อต ช่วยเก็บรักษาไว้ให้ด้วย โดยนางพิมจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้อีก 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,000,000 บาท ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 รับฝากเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจากนางพิมต่างกรรมต่างวาระกัน โดยจำเลยที่ 3 ได้รับค่าตอบแทนการรับฝากเพิ่มจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้สถานที่ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนก็ต่างสถานที่กัน ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ย่อมเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาในการมีไว้ในครอบครองเมทแอมเฟตามีนสองจำนวนดังกล่าวแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายรวมสองกรรม ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 3 น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 2 กระทง กระทงละตลอดชีวิต และปรับกระทงละ 5,000,000 บาท โทษดังกล่าวนี้ต่ำกว่าประหารชีวิตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม อยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขึ้นมาอีกเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 3 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมมีความหมายว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ต่ำกว่าที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษามา กล่าวคือ ให้ศาลฎีกาพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 3 ต่ำกว่าโทษจำคุกกระทงละตลอดชีวิต และปรับกระทงละ 5,000,000 บาท นั่นเอง เห็นว่า การลงโทษผู้กระทำผิดให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 เป็นการให้อำนาจแก่ศาลในการใช้ดุลพินิจลงโทษมิใช่บทบังคับแต่อย่างใด ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ก่อนถูกจับกุมในปี 2547 จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษมาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว อีกทั้งจำเลยที่ 3 ได้รับฝากเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากจากนางพิมจำนวน 2 คราว เพื่อค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจจนมีฐานะร่ำรวยรายได้ปีละประมาณ 40 ถึง 50 ล้านบาท จำเลยที่ 3 ย่อมรู้ดีว่าการเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษอาจได้รับการลงโทษหนักตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้ยากจนหรืออยู่ในภาวะลำบากแห่งชีวิตอันไม่มีทางออก จำเลยที่ 3 สามารถเลือกที่จะดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องได้ แต่จำเลยที่ 3 กลับเลือกที่จะมาเกี่ยวข้องช่วยเหลือผู้ค้ายาเสพติดให้โทษไม่ว่าซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษหรือช่วยเหลือทางคดี เมื่อจำเลยที่ 3 ถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมทราบลู่ทางการต่อสู้คดีเป็นอย่างดี ศาลฎีกาเห็นว่า การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั้น จะต้องใช้เพื่อให้เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดที่สำนึกผิดและกลับใจช่วยเหลือราชการเพื่อปราบปรามภัยอันเนื่องมาจากยาเสพติดให้โทษโดยแท้อันเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม มิใช่เฉพาะเพื่อประโยชน์ของการได้รับลดหย่อนผ่อนโทษแก่ผู้กระทำผิดเพียงฝ่ายเดียวตามที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษและลดหย่อนผ่อนโทษแก่จำเลยที่ 3 จนเหลือโทษสุทธิที่จะได้รับเพียงจำคุกรวม 50 ปี และปรับรวม 5,000,000 บาท เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 อย่างมากแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นควรลงโทษจำเลยที่ 3 ให้น้อยไปกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อีก ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share