คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีอาญาที่พนักงานอัยการและโจทก์ซึ่งเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาท
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามิได้ตายในทันทีค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย” ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตายแต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่ เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2542 โจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 โจทก์จึงขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน 6 วัน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงิน 30,300 บาท เท่านั้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชอบร่วมกับจำเลยทั้งสองมากกว่าที่ศาลล่างมีคำพิพากษา เพราะจำเลยทั้งสองได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นการประกันภัยประเภทสมัครใจ แต่จำเลยร่วมรับผิดชอบเพียงจำนวนเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ตามกฎหมายประกันภัยภาคบังคับเพียง 80,000 บาท ไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาแต่ต้นว่า การที่ศาลชั้นต้นยกความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยร่วมมาจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในทำนองเดียวกัน จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในฎีกาว่า เพราะเหตุใด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสัมปทานการเดินรถโดยสารประจำทางแล่นระหว่างอำเภอหาดใหญ่ – อำเภอเมืองสงขลา จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถร่วมโดยสารประจำทาง หมายเลขทะเบียน 10 – 0231 สงขลา โดยนำรถยนต์ดังกล่าวเข้าร่วมกับจำเลยที่ 1 และทำงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2542 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนศรีภูวนารถไปทางทิศตะวันตกด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้มลงได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งหมดไม่เกิน 100,000 บาท และโจทก์ก็มีส่วนกระทำผิดด้วยจึงเรียกร้องค่าเสียหายได้เพียงบางส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า เหตุละเมิดคดีนี้หาได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 ไม่ แต่เกิดจากความประมาทของโจทก์ แต่หากฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายประมาทและต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมก็รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งไม่เกินวงเงิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และไม่เกิน 80,000 บาท กรณีมรณะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,422,230 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 สิงหาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ทนายโจทก์และนายทราย พรพิพัฒน์ บิดาโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 นายทราย พรพิพัฒน์ บิดาโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 722,230 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2542 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างและขับรถยนต์โดยสารประจำทาง หมายเลขทะเบียน 10 – 0231 สงขลา ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้รับรถไปถึงที่เกิดเหตุระหว่างนั้นโจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์อยู่ในที่เกิดเหตุได้ประสบอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2544 โจทก์ถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในคดีอาญาที่พนักงานอัยการและโจทก์ซึ่งเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพียงใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับเงินค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท เป็นเวลานานถึง 33 ปี เป็นเงินถึง 594,000 บาท เป็นการไม่เป็นธรรมต่อจำเลยทั้งสอง เพราะได้ความว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 แต่พยานโจทก์เบิกความเป็นพยานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 โดยปกปิดการตายไม่ให้จำเลยทั้งสองทราบ และทนายโจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องของบิดาโจทก์ขอรับมรดกความเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ทั้งพยานโจทก์เบิกความเพียงว่า โจทก์มีอาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้า มีเครื่องซักผ้า 4 เครื่อง มีกำไรจากการประกอบอาชีพเดือนละ 40,000 บาท ขอเรียกค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้เป็นเงิน 800,000 บาท โดยไม่ได้แสดงหลักฐานอื่นประกอบนั้น เห็นว่า โจทก์มีทนายโจทก์เบิกความว่าโจทก์มีอาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้า มีเครื่องซักผ้า 4 เครื่อง มีลูกจ้าง 4 คน มีกำไรจากการประกอบอาชีพประมาณเดือนละ 40,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบกิจการดังกล่าวจริง และกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท จึงชอบและเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเวลาถึง 33 ปีนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย” ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตายแต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2542 โจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 โจทก์จึงขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน 6 วัน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงิน 30,300 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองเพียงใด เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 1 เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยร่วม ในสัญญาหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 2.1 ได้ระบุว่า ไม่คุ้มครองถึงความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะส่วนเกินพระราชบัญญัติฯ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ต้องทุพพลภาพอย่างถาวร จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในวงเงิน 80,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชอบร่วมกับจำเลยทั้งสองมากกว่าที่ศาลล่างมีคำพิพากษา เพราะจำเลยทั้งสองได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นการประกันภัยประเภทสมัครใจ แต่จำเลยร่วมรับผิดชอบเพียงจำนวนเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ตามกฎหมายประกันภัยภาคบังคับเพียง 80,000 บาทไม่ถูกต้อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาแต่ต้นว่า การที่ศาลชั้นต้นยกความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยร่วมมาจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในทำนองเดียวกัน จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในฎีกาว่า เพราะเหตุใดศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยจำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ด้วย จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 858,530 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยร่วมรับผิดในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share